อยากเริ่มต้นบริษัท เรื่องหนึ่งที่ต้องตัดสินใจคือ จะจดทะเบียนเท่าไร และส่วนใหญ่เจ้าของกิจการมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับทุนทะเบียน เช่น
- ทุนจดทะเบียนเยอะไว้ก่อน น่าเชื่อถือดี
- ทุน 1 ล้านบาท ไม่ต้องคิดมาก
- ไม่มีเงินจริงก็จดได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนเท่าไรดี ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเค้าเล่าว่า หรือเชื่อตามๆ กันมาเพียงเท่านั้น
ถ้าอยากจดทะเบียนบริษัท เราควรเข้าใจหลักการเรื่องทุนจดทะเบียนที่ถูกต้อง และต้องมั่นใจว่าทุนจดทะเบียนที่เราตัดสินใจจดไปมันเหมาะสมจริงๆ กับบริษัทเรา
ทุนจดทะเบียนคืออะไร?
ทุนจดทะเบียน คือ จำนวนเงินลงทุนสำหรับธุรกิจที่ตกลงกันระหว่างผู้ถือหุ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นได้ โดยจะต้องระบุจำนวนเงินทุนจดทะเบียนตอนจดเปิดบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแบ่งหุ้นตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะลงทุน และมูลค่าหุ้น (ราคาพาร์) ไม่ต่ำกว่า 5 บาท (ปัจจุบันบริษัทจำกัด ต้องมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 คน)
ควรจดทะเบียนทุนเท่าไรดี?
เงินขั้นต่ำสำหรับทุนจดทะเบียนบริษัท กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 3 หุ้น หุ้นละ 5 บาท = รวมเป็น 15 บาท
แต่คงไม่มีธุรกิจไหนที่ต้องใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 15 บาทเป็นแน่ คำถามถัดมาคือ แล้วเราควรมีทุนจดทะเบียนเท่าไรดี?
คำตอบคือ ต้องคำนวณให้ได้ว่าธุรกิจจะต้องลงทุนทั้งหมดเท่าไรสำหรับการเริ่มต้น และมีเงินพอหมุนเวียนสำหรับระยะแรก
เพราะฉะนั้น สูตรง่ายๆ สำหรับการคิดมูลค่าทุนจดเบียน สรุปได้ตามนี้
ทุนจดทะเบียน = เงินที่ต้องลงทุนในธุรกิจ + เงินหมุนเวียนช่วงแรก
ทุนจดทะเบียนต่างกับทุนจดทะเบียนและชำระแล้วหรือไม่?
“ทุนจดทะเบียน” นั้นแตกต่างกับคำว่า “ทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว” เพราะว่า
ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนชำระค่าหุ้นกันเข้ามาจริงๆ ให้กับบริษัท ซึ่งตามกฎหมายระบุเอาไว้ว่าในการจดทะเบียนบริษัทต้องชำระค่าหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
สรุปง่ายๆ ก็คือ ทุนจดทะเบียน เป็นจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดที่บริษัทต้องใช้เริ่มต้นธุรกิจ แต่ทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว เป็นจำนวนเงินทุนจริงๆ ที่ได้รับชำระเข้ามานั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Zero to Profit จำกัด ไปแจ้งจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒน์ที่ทุนจดทะเบียน 100,000 บาท แต่ในความจริงอาจจะยังไม่ต้องจ่ายชำระครบจำนวน จ่ายกันแค่ 25% ก่อนเท่าที่มีเงินก็ได้ โดยระบุจำนวนทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว = 25,000 บาท และหลังจากนั้นค่อยเรียกชำระส่วนที่เหลือเข้ามาในบริษัทก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
ทีนี้พอจะเข้าใจหลักการของทุนจดทะเบียนที่ถูกต้องแล้ว และกับความเชื่อที่ว่าจดเยอะๆ แล้วดี หรือจดเท่าไรก็ได้ช่างมัน คงไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องเสมอไป เพราะแต่ละธุรกิจมีลักษณะเฉพาะตัว ต้องการเงินลงทุนที่แตกต่าง ถ้าอยากรู้ว่าทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจเราเป็นเท่าไร อย่าลืมสำรวจตัวเอง คิดแผนการลงทุนในธุรกิจให้เรียบร้อยแล้วจะประมาณการเงินทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมได้ไม่ยากเลย
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit