ดอกเบี้ย OD คืออะไร? ทำความเข้าใจก่อนเบิก ถ้าไม่อยากเสียดอกแพง

ดอกเบี้ย OD คืออะไร? ทำความเข้าใจก่อนเบิก ถ้าไม่อยากเสียดอกแพง

ในการทำธุรกิจ เรื่องเงินถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้าได้ แต่ในบางสถานการณ์เราอาจจะไม่มีเงินหมุนเวียนมากนัก จึงต้องใช้ตัวช่วยอย่างเงินเบิกเกินบัญชี (OD) เพื่อให้จ่ายเช็คกับซัพพลายเออร์ได้ตรงเวลา (ถึงแม้จะไม่มีเงินสดในบัญชีก็ตาม) ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับมือกับ “ดอกเบี้ย OD” ที่มีค่อนข้างแพงด้วยนะ

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเงิน OD คืออะไร ต้องรู้อะไรบ้าง และมีข้อควรระวังก่อนใช้อย่างไร บทความนี้มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับ “ดอกเบี้ย OD คืออะไร? ทำความเข้าใจก่อนเบิก ถ้าไม่อยากเสียดอกแพง” มาฝากกันค่ะ

ดอกเบี้ย OD คืออะไร VS เงินเบิกเกินบัญชี (OD) คืออะไร?

ก่อนจะมารู้จักกับดอกเบี้ยOD มาทำความเข้าใจกับคำว่า เงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft: OD) กัน ซึ่งก็คือ เงินที่เบิกจ่ายแบบเช็คได้เกินกว่ายอดเงินสดที่มีฝากไว้ในบัญชีธนาคารประเภทกระแสเงินสด เหมือนกับเรายืมเงินธนาคารเซนต์จ่ายเช็คไปล่วงหน้าก่อน แล้วค่อยเอามาคืนทีหลัง เงินเบิกเกินบัญชีนี้ คือ หนี้สินในทางบัญชี ที่มีการกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนในระยะสั้น สามารถนำมาใช้กับธุรกิจที่ต้องการกระแสเงินสดในการชำระหนี้ได้ 

แต่ทั้งนี้ เงิน OD ที่เบิกจากวงเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ จะต้องชำระคืนพร้อมกับ “ดอกเบี้ย OD” ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากการเบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีธนาคาร จะคิดเป็นรายวันตามจำนวนที่เบิกใช้จริง โดยจะคำนวณด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อทั่วไปของธนาคารทุกสิ้นเดือน

เงินเบิกเกินบัญชี OD คืออะไร

จุดเด่นของเงิน OD คืออะไร?

เงิน OD ถือเป็นตัวเลือกที่เจ้าของธุรกิจหลายคนสนใจกันเยอะเลยทีเดียว ด้วยจุดเด่นต่าง ๆ ที่ช่วยหมุนเงินในธุรกิจได้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ

  1. ต้องมีบัญชีกระแสเงินสดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายผ่านเช็ค
  2. ต้องขอวงเงินไว้ก่อน จะได้วงเงินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประวัติการเงินและหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันที่ผ่านมาของผู้กู้
  3. เป็นหนี้สินระยะสั้นที่มีวงเงินเกินมาจากกระแสเงินสดในบัญชีไม่มาก โดยจะคิดดอกเบี้ย OD จากจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีเท่านั้น เมื่อฝากเงินเข้าบัญชีเพื่อหักกลบ จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยต่อ
  4. มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการกระแสเงินสดเพื่อชำระหนี้ หรือใช้จ่ายฉุกเฉิน
จุดเด่นของเงิน OD คืออะไร
จุดเด่นของเงิน OD คืออะไร

ความแตกต่างบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป กับบัญชีเงิน OD คืออะไร

ถ้าพูดถึงบัญชีออมทรัพย์ กับบัญชีเงิน OD แล้วเนี่ย สองบัญชีนี้มีความแตกต่างกันในหลายด้าน เดี๋ยวจะขอจำแนกความแตกต่างให้ทุกคนเห็นภาพได้มากขึ้นนะคะ

1. ลักษณะการใช้งาน

บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป: ใช้สำหรับการออมเงิน สามารถฝากและถอนเงินได้ตามต้องการ และได้รับดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ฝากอยู่ในบัญชี

บัญชีเงิน OD: เป็นบัญชีที่อนุญาตให้ผู้ถือบัญชีเบิกเงินเกินจากยอดเงินที่มีอยู่ในบัญชีได้ โดยมีวงเงินที่กำหนด ซึ่งเหมาะสำหรับการชำระหนี้ หรือใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน

2. การคิดดอกเบี้ย

บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป: ดอกเบี้ยจะถูกคำนวณจากยอดเงินที่ฝากในบัญชี และจ่ายให้กับผู้ฝากตามอัตราที่ธนาคารกำหนด

บัญชีเงิน OD: ดอกเบี้ยจะถูกคิดจากจำนวนเงินที่เบิกเกิน และระยะเวลาที่ใช้วงเงิน OD

3. ความสะดวกในการเข้าถึงเงิน

บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป: ถอนเงินได้ตามต้องการ แต่ไม่สามารถเบิกเกินยอดที่มีอยู่ในบัญชี

บัญชีเงิน OD: สามารถเบิกเงินเกินจากยอดในบัญชีได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในธุรกิจได้

4. ค่าใช้จ่าย

บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป: ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการถอนหรือฝากเงิน แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับมักต่ำ

บัญชีเงิน OD: อาจมีค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยเบิกเงินเกินจากบัญชีเพิ่มเข้ามา และจะต้องชำระดอกเบี้ยOD ตามจำนวนที่ใช้วงเงิน OD

ดอกเบี้ย OD คิดเท่าไรยังไงบ้าง

เมื่อเจ้าของธุรกิจได้ทำการเบิกเงิน OD ไปแล้ว เตรียมใจเลยค่ะว่าจะต้องรับมือกับดอกเบี้ยOD ที่มาพร้อมกับเงินต้นด้วยแน่นอน โดยดอกเบี้ยที่ต้องชำระนั้นมีวิธีคิด ก็คือ

ดอกเบี้ย = เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวัน / 365

เงินต้น = จำนวนเงินที่ถอนเกินจากยอดเงินในบัญชีที่มีอยู่

อัตราดอกเบี้ย = อัตราดอกเบี้ยต่อปีที่ธนาคารกำหนด

จำนวนวัน = จำนวนวันที่ใช้เงินเบิกเกินบัญชี

ยกตัวอย่างการคิดคำนวณดอกเบี้ย

นาย A ถอนเงินเกินจากบัญชี 10,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 12% ต่อปี โดยนาย A เอาเงินส่วนนี้ไปใช้เพื่อจ่ายหนี้ค่าอุปกรณ์สำนักงานเป็นเวลา 15 วัน ดอกเบี้ยOD ที่นาย A ต้องจ่ายสามารถคำนวณได้ ดังนี้

ดอกเบี้ยOD = 10,000 x 0.12 x 15 / 365 = 49.59

ดังนั้น นาย A ต้องจ่ายดอกเบี้ยOD ทั้งหมด 49.59 บาท ในระยะเวลา 15 วัน นั่นเองค่ะ

ดอกเบี้ย OD คิดเท่าไรยังไงบ้าง
ดอกเบี้ย OD คิดเท่าไรยังไงบ้าง

ถ้าอยากขอ OD ธุรกิจ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

เมื่อได้ทำความเข้าใจแล้วว่า ดอกเบี้ยOD คำนวณอย่างไร และมีที่มาอย่างไร หากใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกว่าตัวเองพร้อมที่จะรับความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เพื่อเบิกเงินไปใช้กับธุรกิจของตัวเอง ขอแนะนำให้เตรียมตัวในส่วนต่าง ๆ ให้พร้อม ดังนี้

1. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน

ก่อนที่จะขอเบิกใช้เงิน OD คุณต้องเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Current Account) กับธนาคารที่คุณเลือกก่อนค่ะ เนื่องจากบัญชีนี้จะเป็นช่องทางในการเบิกเงินเกินบัญชี

2. เตรียมเอกสารที่ต้องใช้

เอกสารที่เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมขอสินเชื่อ OD ประกอบด้วย

  1. บัตรประชาชน หรือเอกสารแสดงตัวตนของผู้สมัครสินเชื่อ OD
  2. ทะเบียนการค้า หรือเอกสารที่แสดงถึงการดำเนินธุรกิจ เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วน หนังสือบริคณห์สนธิ และ ข้อบังคับของบริษัท เป็นต้น
  3. งบการเงิน เช่น งบกำไรขาดทุนและงบดุล เพื่อแสดงถึงสถานะทางการเงินของธุรกิจ
  4. แผนธุรกิจ (ถ้ามี) เพื่อให้ธนาคารเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และการใช้เงิน

3. ยื่นคำขอสินเชื่อ OD

เมื่อได้เปิดบัญชีและเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป ให้ไปธนาคารเพื่อยื่นคำขอเบิกเงิน OD โดยธนาคารจะทำการพิจารณาและอนุมัติวงเงินตามความเหมาะสมกับธุรกิจ

4. วางแผนการใช้วงเงิน

หลังจากได้รับอนุมัติวงเงิน OD สิ่งสำคัญที่ต้องทำเลยก็คือ วางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ โดยใช้วงเงินตามวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม เช่น การจ่ายเช็คชำระหนี้สินของธุรกิจ มิฉะนั้น เจ้าของธุรกิจอาจหมุนเงินเพื่อมาจ่ายชำระหนี้เงิน OD ไม่ทัน

5. ติดตามการชำระหนี้

ควรมีการติดตามและวางแผนการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมักจะสูงกว่าสินเชื่อแบบทั่วไป

เรื่องที่ต้องระมัดระวังถ้าไม่อยากเสียดอกแพงๆ

ถึงแม้เงิน OD จะมีประโยชน์ที่ช่วยหมุนเงินให้ธุรกิจมีสภาพคล่องได้มากขึ้น (แต่ต้องเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ) แต่ยังไงก็ต้องใช้เงินอย่างมีสตินะคะ เพราะเงิน OD ก็มีข้อเสียที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ประเด็นหลัก ๆ คือ

  1. ดอกเบี้ยOD จะสูงกว่าสินเชื่อทั่วไปของธนาคาร เช่น MRR+6% ต่อปี หรือ 13.30% สำหรับธุรกิจรายใหญ่ หรือ MRR+15% ต่อปีหรือ 22.30% สำหรับธุรกิจรายย่อย อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย 2567 และยังมีอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระอีกที่ต้องรับมือด้วย
  2. มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเบิกเงิน OD เฉลี่ย 3-5%
  3. เงินส่วนนี้เป็นหนี้สินระยะสั้น ห้ามแสดงหักกลบกับสินทรัพย์ในงบการเงิน
  4. ไม่แนะนำให้เบิกเงิน OD เพื่อใช้จ่ายระยะยาว เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพราะมีอัตราดอกเบี้ย OD ที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อทั่ว ๆ ไป
ข้อควรระวัง ถ้ามี OD
ข้อควรระวัง ถ้ามี OD

ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวน่ารู้ของเงิน OD และดอกเบี้ยOD ที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะถ้าหากเจ้าของธุรกิจเบิกเงิน OD โดยที่ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะวางแผนการเงินธุรกิจผิด และรับมือกับดอกเบี้ยแพง ๆ ไม่ไหว จนนำไปสู่ปัญหาหมุนเงินมาชำระหนี้ไม่ทันนั่นเองค่ะ

ปรึกษาปัญหาบัญชี เรียนรู้การเงิน ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ