4 เรื่องบัญชีต้องรู้ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

4 เรื่องบัญชีต้องรู้ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

“รับเหมาก่อสร้าง” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในฝันของใครหลายๆ คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำธุรกิจนี้แล้วรุ่ง

เพราะนอกจากจะต้องคุมงานสร้างบ้านให้เสร็จตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว เรายังต้องคุมเรื่องบัญชีให้อยู่หมัดไปพร้อมๆ กันด้วย

ที่สำคัญ ธุรกิจนี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนธุรกิจบริการ หรือซื้อขายทั่วไป เพราะแต่ละโปรเจคที่ลงทุนไปใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน ฉะนั้น ถ้าใครบริหารบัญชีและเงินไม่ดีพออาจต้องขาดทุนหรือหมดเงินหมุนไปกลางคัน

มีเรื่องบัญชีอะไรที่พวกเราต้องรู้บ้าง ถ้าอยากทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลย

1.ต้องบริหารแยกโปรเจค

จุดเด่นของงานรับเหมาก่อสร้าง คือ เราจะสร้างอะไรก็ได้ตามใจลูกค้าสั่ง ซึ่งนี่ก็เป็นจุดด้อยของธุรกิจนี้ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อสิ่งที่เราสร้างมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รายได้ที่ได้รับแต่ละงานก็ต่างกัน ต้นทุนการทำงานก็ต่างกัน ระยะเวลาในการทำงานก็ต่างกัน แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าธุรกิจจะมีกำไร

ยกตัวอย่างเช่น เรามี 4 โปรเจคในปีนี้

  • โปรเจค 1 สร้างอพาร์ทเมนต์ 5 ชั้น
  • โปรเจค 2 สร้างสวนสนุก พื้นที่ 15 ไร่
  • โปรเจค 3 สร้างโรงงาน
  • โปรเจค 4 สร้างบ้านเดี่ยว 1 หลัง

ถ้าเราไม่คิดเยอะ เอารายได้ทุกโปรเจคมารวมๆ กัน แล้วก็ทำงานไป สุดท้ายเมื่อรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ก็กำไรอยู่ดี

ถ้าใครใช้วิธีนี้อยู่ บอกเลยว่าเสี่ยงมากๆ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าโปรเจคไหนบ้างที่ทำกำไรได้ดี และมีโปรเจคไหนที่ขาดทุนอยู่หรือเปล่า

ฉะนั้น ถ้ารักจะรับงานรับเหมา อย่าลืมคิดรายได้แยกโปรเจค รวมไปถึงจดต้นทุนแยกตามโปรเจคด้วย เราจะได้รู้ว่า

  • โปรเจคไหนใช้วัตถุแพงสุด
  • โปรเจคไหนมีค่าแรงเยอะสุด
  • และโปรเจคไหนกำลังจะขาดทุน

สุดท้ายแล้วนี่จะช่วยให้เรา stop การขาดทุนจากโปรเจคนั้นๆ ได้เร็วขึ้น ดีกว่ารู้ตัวตอนสุดท้ายเมื่อบริษัทขาดทุนแบบภาพรวมแล้วตอนสิ้นปี

2.รู้ช่วงเวลาเบิกเงิน

เมื่อรับงานมา การตกลงช่วงเวลาวางบิล เบิกเงินแต่ละงวดเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะมันหมายถึงการบริหารเงินสดในอนาคตของกิจการ

เราต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขของการเบิกเงินให้ดีๆ และต้องทำงานให้เสร็จตามเงื่อนไขเพื่อไม่ให้พลาดรอบการเบิกเงิน

ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าสัญญา 20 ล้านบาท เราตกลงแบ่งงวดการเบิกเป็น 3 งวด 20%, 30%, 40%

ถ้างวด 20% แรก เราตกลงว่าจะเบิกเมื่องานเสร็จ phase 1 นั่นหมายความว่า เจ้าของธุรกิจเองต้องสำรองเงินลงทุนไปก่อนล่วงหน้ากว่าจะได้เงินอีกทีก็หลังส่งงาน

บางครั้งมันก็อาจจะดีกว่า ถ้าเราประมาณการต้นทุนการก่อสร้างได้ และขอเบิกเงินงวดแรกมาทำงานก่อน ธุรกิจจะได้ไม่ขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้อย่าลืมเรื่องเงินประกันผลงาน ที่ลูกค้าจะหักไว้ 10% ตามตัวอย่างนี้ ลองดูสัญญาดีๆ ว่าเราจะได้เงินนี้จริงๆ เมื่อไร

ถ้าเราจะได้เงินนี้อีกที 1 ปีถัดไป แล้วมีแนวโน้มว่าจะได้ไม่ครบ ถ้าเราต้องชดเชยงานที่ชำรุดบางส่วน

เงินส่วนนี้คือ เงินสดรับในอนาคต ดังนั้น อย่าหลงดีใจว่าทำงานแล้วจะได้เงินครบ 20 ล้านไปโดยปริยาย ตอนวางแผนเงินสดต้องมั่นใจว่าไม่ได้เอาเงินส่วนนี้มารวมในแพลนธุรกิจด้วย และอีก 1 ปีข้างหน้าอย่าลืมวางบิลทวงถามลูกค้า ให้จ่ายคืนกลับมาใครครบด้วยนะ

3.เทียบต้นทุนจริงกับงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ

งานรับเหมาบางงานที่เรารับมาแบบรายได้คงที่ ไม่ได้ตกลงไว้ว่าจะคิดตามต้นทุนจริงและบวกกำไรเข้าไป

งานแบบนี้มีความเสี่ยงมากที่จะขาดทุนถ้าเราควบคุมต้นทุนก่อสร้างได้ไม่ดีพอ

วิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจควบคุมต้นทุนก่อสร้างได้ อาจเริ่มต้นจากการจดรายจ่ายจริง เทียบกับงบประมาณที่วางไว้ทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอ

รายจ่ายหรือต้นทุนของการรับเหมาก่อสร้างมีอะไรบ้าง เช่น

  • วัสดุก่อสร้าง
  • ค่าแรงคนงาน
  • การจ้าง Subcontract ทำงานบางอย่างที่ไม่ถนัด

ต้นทุนเหล่านี้ถ้าไม่เก็บข้อมูลไว้ให้ดี เผลอแป๊บเดียวโปรเจคอาจขาดทุนแบบไม่ทันตั้งตัว

ยิ่งเรามีวิธีจดต้นทุนได้ทันเวลาเท่าไร พอมาเปรียบเทียบกับงบประมาณในแต่ละช่วง มันยิ่งทำให้เราบริหารโปรเจคได้ดีเท่านั้น

ดีไปกว่านั้น ถ้าเราทำให้ต้นทุนจริง น้อยกว่างบประมาณที่วางไว้ได้ มันยังหมายถึง กำไรที่เราได้เพิ่มขึ้นจากโปรเจคนี้ เจ้าของธุรกิจคงจะแฮปปี้สุดๆ

4.วัดขั้นความสำเร็จได้

ขั้นความสำเร็จของงานนั้นสัมพันธ์กับการเบิกเงิน และแน่นอนมันสัมพันธ์กับการรับรู้รายได้และต้นทุนทางบัญชีด้วย

วิธีการวัดขั้นความสำเร็จของงาน อาจทำได้ 3 แบบ ได้แก่

1.เทียบต้นทุนใช้ไปกับต้นทุนทั้งหมด วิธีนี้อาจต้องคุยกับนักบัญชีให้พวกเค้าช่วยเพิ่มเติม

2.สำรวจว่างานเสร็จจริงเท่าไรเทียบกับงานทั้งหมด วิธีนี้ต้องให้วิศวกรช่วยเช็ค

3.วัดสัดส่วนงานเสร็จเทียบกับสัญญา เช่น สร้างตึกเสร็จ 1 ชั้นจาก 4 ชั้นคิดเป็น 25%

ถ้าเราวัดความสำเร็จได้แม่นยำ บัญชีที่สะท้อนในงบการเงินก็จะบอกผลประกอบการของธุรกิจได้ดีเช่นกัน

และสิ่งที่ต้องระวังสุดๆ ในทางบัญชีคือ เมื่อไรก็ตามที่ต้นทุนก่อสร้างมันเริ่มจะเกินรายได้ตามสัญญามาแล้ว เราจะเกิดขาดทุนในงบการเงินขึ้นมาทันที

ทั้งหมดนี้เป็น 4 เรื่องบัญชี ที่เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องรู้ เพื่อจะได้มีกำไร และมีเงินเหลือพอสำหรับหมุนเวียนภายใน เพราะการสร้างบ้านเก่งอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ถ้าธุรกิจยังต้องการกำไร

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ