5 ประเภทรายได้ ที่ต้องรู้ถ้าอยากรวย

5 ประเภทรายได้ ที่ต้องรู้ถ้าอยากรวย

คำว่า รายได้ เป็นคำมงคล ที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็อยากมี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ เรามักได้ยินคำว่า “รายได้ต้องมาจากหลายทาง” อยู่บ่อยๆ

แล้วเราจะมีรายได้จากหลายทางได้อย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจประเภทรายได้ให้ดีพอ

ในวันนี้ Zero to Profit จะพาเจ้าของธุรกิจทุกท่านไปทำความรู้จักรายได้ 5 ประเภทที่เจ้าของธุรกิจควรมี

1.รายได้จากการขาย

ข้อนี้ทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะรายได้จากการขายมักจะเป็นรายได้หลักของหลายๆ ธุรกิจ แต่รู้หรือไม่ว่า รายได้จากการขายนั้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

  • ขายสด = ขายแล้วได้เงินเลย
  • ขายเชื่อ = ขายแล้ว ยังไม่ได้เงิน แต่เกิดเป็นลูกหนี้ธุรกิจ เมื่อถึงกำหนดจึงได้รับเงินภายหลัง
  • ขายฝาก = เรามีสินค้า ไปฝากวางขายหน้าร้านอื่น ขายได้เมื่อใดจึงเป็นรายได้ และถ้าขายไม่ออกก็ต้องรับคืนสินค้ากลับมา ตัวอย่างที่เราพบบ่อย เช่น แบรนด์ขนมขายฝากสินค้าบนห้าง ถ้าขายออกไปยัง end-customer เมื่อไร จึงนับเป็นรายได้
  • ขายแบบรับคืนถ้าไม่พอใจ = ขายแบบมีเงื่อนไขชัดเจนกับลูกค้าว่าจะรับคืนภายใน 7 วันถ้าไม่พอใจ โดยปกติแล้วไม่อาจรับรู้รายได้ 100% ณ วันที่ขาย แต่ว่าต้องเผื่อใจไว้รอว่ามีคืนของหรือไม่เสียก่อน หรือรอรับรู้รายได้หลังจากหมดช่วงเวลาคืนของ เช่น ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรถยนต์

แม้ว่าทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาจะเป็นรายได้จากการขายเหมือนกัน แต่ช่วงเวลารับรู้รายได้ต่างกัน รวมไปถึงการรับเงินก็แตกต่างกันด้วย

ถ้าลองสังเกตดูดีๆ การขายฝาก หรือขายแบบรับคืนสินค้า อาจรับรู้รายได้ช้ากว่าการขายทั่วไป ไม่ใช่แค่ส่งมอบก็รับรู้ได้แล้ว แต่ต้องดูรายละเอียดลึกๆ ถึงการโอนสินค้าและความเสี่ยงไปยังลูกค้าจริงๆ จึงมีรายได้เกิดขึ้น

2.รายได้จากการให้บริการ

เจ้าของธุรกิจบางคนอาจไม่ถนัดขายสินค้า แต่ชอบขายบริการมากกว่า อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะการให้บริการก็ช่วยสร้างรายได้เข้ามาในธุรกิจอีกรูปแบบนึง แถมยังไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับเรื่องสต๊อกสินค้าอีกด้วย

แต่ทว่าการบริการเองก็จะมีหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

  • บริการระยะสั้นครั้งเดียว = การรับรู้รายได้ก็จะเกิดขึ้นเมื่อให้บริการเสร็จสิ้นแล้ว เช่นว่า บริการนวดหน้า 1 ชม. เมื่อนวดหน้าเสร็จเจ้าของร้านก็รับรู้เป็นรายได้ทันที แม้ว่าลูกค้าจะยังไม่จ่ายเงินก็ตาม
  • บริการต่อเนื่องระยะยาว = กรณีนี้การรับรู้รายได้อาจแบ่งรับรู้อย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น บริการแพคเกจอินเตอร์เน็ต จ่ายล่วงหน้ารายปี โดยทั่วไปแล้วแม้ลูกค้าจะจ่ายเงินมาก่อน เราก็รับรู้รายได้แบบตูมเดียวทั้งก้อนไม่ได้ แต่ต้องทยอยรับรู้ตามช่วงเวลาที่ให้บริการไปเป็นรายเดือน เป็นต้น
  • บริการแบ่งเป็นหลายขั้น = บริการลักษณะนี้มีความซับซ้อน และกินเวลานาน เช่น บริการพัฒนาเว็บไซด์ อาจจะแบ่งเป็นหลายๆ เฟส ระยะเวลา 6 เดือน ฉะนั้น การรับรู้รายได้จะทำแบบสม่ำเสมอ หรือเมื่อให้บริการเสร็จสิ้นไม่ได้ ต้องรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนผลงานที่แล้วเสร็จ ฉะนั้นความยากจะอยู่ตรงที่ เจ้าของธุรกิจมี time record ของการทำงานและต้นทุนที่เกิดขึ้น รวมไปถึงจุดส่งมอบในแต่ละขั้นตอนชัดเจนแค่ไหน

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการมีรายได้จากงานบริการอาจไม่ต้องมาปวดหัวเรื่องคลังสินค้า แต่จุดสำคัญที่เราละเลยไม่ได้ คือ การลงเวลาทำงาน ควบคุมต้นทุน และบริหารลูกน้องให้ดี ซึ่งยากเย็นไม่แพ้กับการคุมสต๊อกเลยล่ะ

3.รายได้ค่าสิทธิ

ธุรกิจไหนมี รายได้ค่าสิทธิ อาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเสือนอนกินดีๆ ก็เป็นได้ เพราะว่า รายได้ค่าสิทธิเกิดจากการที่กิจการมีลิขสิทธิ์บางอย่าง หรือสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า รวมไปถึงสูตรการผลิต ที่มีคุณค่ามากพอ จนมีลูกค้ามาขอใช้สิทธิ์นั้นต่อ เพื่อใช้งานหรือเพื่อต่อยอดการค้า

ตัวอย่างธุรกิจที่มีรายได้ค่าสิทธิบนโลกใบนี้ เช่น

  • ค่า Franchise Fee ที่มักรับรู้รายได้เมื่อทำสัญญา
  • ค่า Royalty Fee ที่เป็นค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าของแบรนด์จะได้รับอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงแรมเครือต่างประเทศมาตั้งในไทย ต้องจ่ายค่า Royalty fee ให้เจ้าของแบรนด์ทุกปี เป็นจำนวนมหาศาล ในส่วนการรับรู้รายได้ก็จะเกิดขึ้นทุกๆปีอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นขั้นบรรไดแล้วแต่ตกลงในสัญญา

ถ้าทุกวันนี้ธุรกิจเรามีคุณค่า และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง อย่าลืมมองหาลู่ทาง เปลี่ยน Brand ให้เป็นเงิน ด้วยการสร้างรายได้จากค่าสิทธิ์บ้างนะ

4.รายได้ดอกเบี้ย

รายได้จากดอกเบี้ย แม้ทุกวันนี้มีจำนวนน้อยนิด แต่นี่เป็นรายได้อีกทางนึงที่ธุรกิจต้องได้ ถ้ามีเงินเยอะพอ แล้วรู้จักวางเงินไว้ถูกที่ถูกทาง

เรามีรายได้จากดอกเบี้ยแบบไหนได้บ้าง

  • ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร
  • ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้
  • ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม

ดอกเบี้ยเหล่านี้ มักรับรู้แบบตรงไปตรงมาตามสัดส่วนเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่ตกลง รายได้ประเภทนี้ ถ้าเปรียบเทียบง่ายให้เห็นภาพ มันก็คือ รายได้จากการให้เงินทำงานแทนเรานั่นไงล่ะ

5.รายได้เงินปันผล

ไม่ใช่ทุกกิจการจะมีรายได้จากเงินปันผล แต่มันก็ไม่ยากนักถ้าเราวางแผนการใช้เงินธุรกิจไว้อย่างดี

รายได้จากเงินปันผล เป็นรายได้ที่ใช้เงินทำงานอีกรูปแบบนึง เกิดจากการลงทุนในหุ้นทุนของธุรกิจอื่น เช่น ลงทุนในบริษัทย่อย ลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งกิจการเองก็มีความเป็นเจ้าของในหุ้นเหล่านี้ด้วย (ต่างจากการให้คนอื่นกู้ยืม) และอีกนัยนึงเราเองก็ต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนเช่นกัน

รายได้จากเงินปันผล จะถือเป็นรายได้ของกิจการเมื่อมีการประกาศจ่าย เช่น บริษัทย่อย A ประกาศจ่ายเงินปันผล 100 บาทวันที่ 7 ธค. 64 แต่จ่ายเงินจริง 7 มค. 65 แปลว่า เราจะมีรายได้เงินปันผล วันที่ 7 ธค. 64 แล้วเมื่อสิทธิเกิดขึ้น

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าเจ้าของธุรกิจจะมีรายได้เท่าไรในปีนี้ อาจไม่สำคัญเท่ากับเราเข้าใจประเภทรายได้ที่เรามีจริงๆ หรือไม่ และจะทำอย่างไรถ้าอยากมีรายได้มากกว่า 1 ทาง เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตเราเองก็จะมีทางรอดมากกว่า 1 ทางด้วยเช่นกัน

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ