“ธุรกิจพี่ทำเงินได้ดีมาก แต่พักนี้เงินไม่ค่อยมีใช้เลย พี่จะเอาเงินออกจากธุรกิจยังไงดี?”
การที่ธุรกิจมีเงินเยอะเป็นเรื่องดีเพราะมันอาจหมายถึง เราทำธุรกิจประสบความสำเร็จ มีสภาพคล่องสูง
แต่ทว่า ปัญหาที่ตามมาของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแบบนี้ คือ เจ้าของธุรกิจมักจะไม่รู้ว่า จะเอาเงินออกมาจากบริษัทอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและธุรกิจ
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจวิธีเอาเงินออกจากธุรกิจ อยากให้ Zero to Profit อยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ 4 เรื่องนี้ก่อน
- เงินสดเป็นของใคร?
- เงินเหลือพอไหม?
- วิธีจะเอาออกมาทำอย่างไร?
- มีภาษีต้องจ่ายหรือไม่?
สองข้อแรกอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น บางธุรกิจเหลือเงินสดเยอะ ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นเงินของตัวเองทั้งหมด เพราะมันอาจจะมาจากการกู้ยืมหรือติดหนี้เงินกู้ก็ได้ และข้อควรระวังสำหรับการดึงเงินออกมา เราต้องรู้ว่าดึงออกมาแล้ว ธุรกิจยังมีเงินเพียงพอใช้จ่าย พอทีจะรันธุรกิจในแต่ละวันได้
ส่วนอีกสองข้อหลังก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน การดึงเงินออกมาแต่ละแบบมีวิธีการยังไง เงื่อนไขแบบไหน และมีภาษีต้องจ่ายมั้ย เดี๋ยวเราลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
1.เงินกู้ยืม
เทคนิคการดึงเงินด้วยวิธีกู้ยืมเป็นเรื่องที่นิยมใช้กันมากในหลายๆ ธุรกิจ แต่สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนก็คือ เจ้าของธุรกิจมีฐานะเป็นอะไรกับเงินกู้ยืมนี้
- ถ้าเราเป็นคนที่เคยให้บริษัทกู้ยืมมาก่อน >> แน่นอนว่าเราดึงเงินกลับไปด้วยการขอรับชำระหนี้จากธุรกิจได้อยู่แล้ว
- แต่ถ้าเราเป็นผู้ขอยืมบริษัท เช่น อยู่ดีๆ โอนเงินจากบริษัทให้ตัวเองเฉย โดยไม่มีเอกสารไม่ชี้แจงบัญชีว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร แบบนี้จะถือว่าเราเป็นผู้ขอกู้ยืมบริษัท และแน่นอนว่าเมื่อยืมแล้ว ก็ต้องคืนนะจ๊ะ
ส่วนภาษีที่เกี่ยวข้อง บริษัทจะมีภาษีที่เกิดจากรายได้การให้กู้ยืม (ดอกเบี้ย) และภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.เงินเดือนและโบนัส
บริษัทนี้ ใครทำงานเยอะที่สุด…ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ
ถ้าทำงานเยอะแบบนี้แล้ว เจ้าของธุรกิจเองก็มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของเงินเดือนและโบนัส เฉกเช่นพนักงานคนอื่นๆ เหมือนกัน
การจ่ายเงินเดือนและโบนัสให้กับเจ้าของธุรกิจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
- ธุรกิจ >> มีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ทำให้สุดท้ายอาจช่วยลดภาษีประจำปีจำนวน 15-20% ของรายจ่ายนั้นๆ
- เจ้าของ >> มีรายได้ (แม้จะไม่อยากมีก็ตาม) ซึ่งรายได้ที่ว่านี้รวมเป็นรายได้ประเภท 40(1) ที่ต้องยื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันอัตราอยู่ที่ 5-35% เป็นแบบขั้นบันได
3.ค่าเช่าและค่าบริการ
ในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทำงานให้กับธุรกิจแบบเต็มตัว แต่ว่ามีทีมงานช่วยบริหารงานให้ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องลองไปคิดต่อว่า
- เราได้ให้ธุรกิจใช้สินทรัพย์อะไรบ้างไหม >> ถ้าใช่ เราก็ดึงเงินออกมาแบบค่าเช่าได้
- เราได้ให้บริการอื่นๆ แก่ธุรกิจไหม >> เช่น ให้คำปรึกษา หรือนายหน้า ถ้าใช่ เราก็ดึงเงินออกมาเป็นค่าบริการได้เช่นกัน
ทั้งค่าเช่าและค่าบริการพอจ่ายออกไปแล้วจะมีผลตามนี้
- ธุรกิจ >> มีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ลดภาษีประจำปีจำนวน 15-20% ของรายจ่ายนั้นๆ
- เจ้าของ >> มีรายได้ส่วนตัวเกิดขึ้น ที่ต้องยื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันอัตราอยู่ที่ 5-35% เป็นแบบขั้นบันได
4.เงินปันผล
ถ้าใครไม่ได้ให้บริษัทกู้ และไม่ได้ทำงานหรือให้บริการอื่นๆ กับบริษัท ทางเลือกที่เหลือก็จะเป็น การจ่ายเงินปันผล
แต่เงินปันผลเอง มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องจ่ายออกจากกำไรสะสมของกิจการ (หมายถึงมีกำไรก่อนนะถึงจะดึงเงินออกไปได้)
และผลกระทบกับธุรกิจและเจ้าของมีดังนี้
- ธุรกิจ >> ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย ลดภาษีไม่ได้ เพราะว่าเงินปันผลจ่ายจากกำไรที่เหลือจากการเสียภาษีไปแล้ว
- เจ้าของ >> มีรายได้ส่วนตัวเกิดขึ้น แต่มีความพิเศษตรงที่รายได้ตรงนี้จะเลือกเอามารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า 5-35% ก็ได้ หรือว่าเลือกใช้วิธี final tax ที่ตอนได้รับเงินเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ไว้แล้ว 10% ก็ได้
สรุปสั้นๆ สำหรับการเอาเงินออกจากธุรกิจ แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ
- คืนเงินกู้
- ให้เงินกู้ยืม
- จ่ายเงินเดือน/โบนัส
- ค่าเช่า/ค่าบริการ
- จ่ายเงินปันผล
ก่อนที่จะดึงเงินออกไปเจ้าของธุรกิจเองควรทำความเข้าใจผลกระทบรอบด้าน ตั้งแต่จะกระทบกับธุรกิจยังไง และส่วนตัวยังไงบ้าง และที่สำคัญสำหรับวิธีที่ 3-5 ตอนจ่ายเงิน ธุรกิจอย่าลืมนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้เรียบร้อยด้วยนะจ๊ะ
การดึงเงินออกจากธุรกิจ ไม่ใช่แค่ถอนๆ เงินออกมา มันหมายถึง การบริหารเงินและภาษีในอนาคตด้วย ซึ่งถ้ามีโอกาสได้เลือกก็ควรเลือกวิธีถูกต้องและดีที่สุดสำหรับตัวเรา
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit