ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ใครที่ทำธุรกิจอยู่ก็น่าจะได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ตอนนี้ใครที่ธุรกิจมีอาการแปลกๆ อย่างเช่น เงินสดไม่พอ ขาดสภาพคล่อง และสงสัยว่าเรากำลังจะเจ๊งหรือเปล่านะ อยากให้ทุกคนมาทางนี้ ไม่ใช่มายืมเงิน Zero to Profit นะ…ฮ่าๆ แต่เราอยากให้มาลองอ่านบทความนี้ที่จะพาไปเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดเงินทุน พร้อมกับวิธีแก้สถานการณ์ว่า เงินไม่พอ ธุรกิจไปต่อยังไงดี ตามมาดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
สังเกตุยังไงว่าเงินในธุรกิจจะไม่พอ
กว่าจะถึงจุดที่ธุรกิจเจอทางตันจนไปต่อไม่ได้ มักจะมีสัญญาณบางอย่างที่สามารถบ่งบอกได้ว่าธุรกิจของคุณกำลังขาดสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจขาดแคลนเงินสด จะจับจ่ายใช้สอยอะไรไม่มีความสะดวกเลย ต้องริเริ่มหยิบยืมเงินจากกรรมการมาใช้ก่อน
- บัญชีหล่ะหลวม ข้อมูลไม่มีความชัดเจน อยากรู้ว่าตอนนี้เงินสดเหลือเท่าไร กำไรมาจากไหน บัญชีก็ตอบคำถามไม่ได้
- ไม่สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า หรือเจ้าหนี้เงินกู้ได้ตรงเวลา แถมยังต้องเสี่ยงเสียเครดิตด้วยนะ
หากเจ้าของกิจการรู้ก่อน ก็จะแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินได้ทันก่อนจะสายเกินไปได้ค่ะ
นอกจากนี้แล้วในบัญชีเองก็จะบ่งบอกความผิดปกติด้วย เช็กง่ายๆ จาก 3 เรื่องนี้
1. เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
การเช็กเงินทุนหมุนเวียน ถือว่าเป็นการเช็กสภาพคล่องรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ โดยคำนวณได้จาก
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
ถ้าผลการคำนวณ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนมากกว่า 1 ถือว่ามีสภาพหมุนเวียนดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าน้อยกว่า 1 ล่ะก็ ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจแล้วหล่ะ
หลายๆคนอาจจะงงว่า แล้วจะสินทรัพย์หมุนเวียน และ หนี้สินหมุนเวียนคืออะไร เรามาดูตัวอย่างจากงบแสดงฐานะการเงินกันค่ะ
หมวดบัญชี | บัญชี | จำนวนเงิน |
สินทรัพย์หมุนเวียน | เงินสด | 100,000 |
ลูกหนี้การค้า | 50,000 | |
สินค้าคงเหลือ | 500,000 | |
รวม สินทรัพย์หมุนเวียน | 650,000 | |
หนี้สินหมุนเวียน | เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้น | 500,000 |
เจ้าหนี้การค้า | 300,000 | |
เจ้าหนี้อื่น | 20,000 | |
รวม หนี้สินหมุนเวียน | 820,000 |
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = 650,000 / 820,000
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = 0.79
ซึ่งมีค่า น้อยกว่า 1 สภาพคล่องต่ำมาก เพราะเงินสดในกิจการน้อยมาก ก็อาจมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ทันเวลาที่จะจ่ายชำระหนี้ก็เป็นได้
และอีก 1 กรณี ที่สามารถเช็กได้ คือ สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าค่าใช้จ่ายคงที่
หมวดบัญชี | บัญชี | จำนวนเงิน |
สินทรัพย์หมุนเวียน | เงินสด | 100,000 |
ลูกหนี้การค้า | 50,000 | |
สินค้าคงเหลือ | 100,000 | |
รวม สินทรัพย์หมุนเวียน | 250,000 | |
ค่าใช้จ่ายคงที่ | เงินเดือน | 200,000 |
ค่าเช่า | 50,000 | |
ค่าสาธารณูปโภค | 20,000 | |
รวม ค่าใช้จ่ายคงที่ | 270,000 |
สินทรัพย์หมุนเวียน = 250,000 ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนคงที่ = 270,000 นั่นหมายความว่า ถึงแม้เราจะขายสินค้าหมดคลัง เก็บเงินลูกหนี้ได้ทั้งหมด แต่เงินก็ยังไม่พอจ่ายพวกค่าใช้จ่ายคงที่อยู่ดีนั่นเอง
2. งบการเงิน
งบการเงินเป็นสิ่งที่จะบอกได้ว่า สถานะการเงินของธุรกิจเป็นอย่างไร โดยสามารถเช็กได้จากตัวเลขในงบการเงินอาจนำอัตราส่วนวิเคราะห์สภาพคล่องมาช่วยในการวิเคราะห์ด้วยค่ะ
อัตราส่วนที่จะช่วยวิเคราะห์สภาพคล่องนั้นมี 3 อัตราส่วน ได้แก่
อัตราส่วน | สูตรคำนวณ | สภาพคล่องสูง | สภาพคล่องต่ำ |
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน | สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน | มากกว่า 1 | น้อยกว่า 1 |
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว | เงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น+ลูกหนี้/หนี้สินหมุนเวียน | มากกว่า 1 | น้อยกว่า 1 |
อัตราส่วนเงินสด | เงินสด/หนี้สินหมุนเวียน | มากกว่า 1 | น้อยกว่า 1 |
สามารถดูตัวอย่างการวิเคราะห์อย่างละเอียดได้ที่นี่ สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนดี ?
ผลของอัตราส่วนเทียบกับตัวเลข 1 คือ ถ้าถ้าธุรกิจมีสภาพคล่องสูง ผลการคำนวณจะได้มากกว่า 1 ในทางกลับกัน ถ้าสภาพคล่องต่ำ ผลการคำนวณจะได้น้อยกว่า 1 ค่ะ
ในส่วนของงบการเงินยังมีเรื่องอื่นๆที่ต้องเช็ก รู้ก่อน เจ๊งทีหลัง อีกมากมายเพื่อนๆ ไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้เลยค่ะ
3. รายรับ – รายจ่าย
เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สามารถเช็กว่าธุรกิจของคุณกำลังมีปัญหาหรือไม่ โดยให้ดูที่ตัวเลขรายรับ และรายจ่าย หากรายจ่ายมีจำนวนมากกว่ารายรับ สันนิษฐานได้เลยค่ะว่า ธุรกิจกำลังมีปัญหาแน่ ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายของชำ จะจดยอดขายทุกวัน ว่าแต่ละวันขายได้เท่าไหร่ รวม 30 วันขายได้ทั้งหมด 500,000 บาท และก็ยังจดยอดซื้อของเข้าร้านทุกครั้ง ว่าซื้อแต่ะละครั้งจ่ายเงินไปเท่าไหร่ รวม 30 วัน ซื้อของเข้าร้านทั้งหมด 600,000 บาท
กรณีแบบนี้ แสดงถึงร้านขายของชำนี้ มีรายรับ น้อยกว่า รายจ่าย ซึ่งข้อนี้ก็ยังตอบไม่ได้นะคะ ว่าธุรกิจขาดทุน แต่เป็นเพียงแค่ข้อสังเกตว่า ตอนนี้เรากำลังขาดสภาพคล่องนั่นเอง
วิธีแก้ไขที่แนะนำเมื่อธุรกิจเงินไม่พอ ธุรกิจไปต่อยังไงดี?
หลังจากที่ตรวจสอบปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเงินทุนหมุนเวียนกิจการ งบการเงิน และรายรับ – รายจ่าย จนรู้ต้นตอที่แท้จริงของการขาดสภาพคล่องของธุรกิจแล้วนั้น เราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้นค่ะ
เราขอแนะนำ 3 วิธีรับมือปัญหา เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ยังคงอยู่รอดต่อไป ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ดังนี้ค่ะ
1. ลองเปลี่ยน Model ธุรกิจ
เมื่อสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจพัง แผนธุรกิจแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรมีแผนรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถมีเงินสดมาหมุนเวียนได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ A ผลิตสินค้า และบริการชนิดหนึ่ง มี Model ธุรกิจแบบขายเชื่อที่จะขายสินค้าให้กับลูกค้าและเกิดการขายทันทีโดยไม่ชำระเงินก่อน ซึ่งกว่าลูกค้าจะชำระเงินก็ผ่านตามกำหนดเวลาไปแล้วตั้งหลายวัน เช่น 30 วัน 60 วัน เท่ากับว่าธุรกิจ A จะได้เงินสดมาหมุนช้ามากค่ะ
เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียน จึงต้องคิดแผนใหม่ที่ช่วยให้ได้เงินเร็วขึ้น เช่น พรีออเดอร์สินค้า จ่ายเงินล่วงหน้า จ่ายเงินมัดจำมาก่อน และเลื่อนเวลาเก็บเงินให้ไวขึ้น เป็นต้นค่ะ
2. เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
เงินไม่พอ ธุรกิจจะไปต่อยังไง ต้องมาพิจารณาที่รายได้ – รายจ่ายกันต่อค่ะ
เมื่อธุรกิจของคุณไม่มีกระแสเงินสด แนะนำให้หาทางเพิ่มรายได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ B มีสินค้าตัวหนึ่งที่เป็น Hero product หรือสินค้าตัวหลักที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เอาชนะคู่แข่งได้ และเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด ก็ต้องมาดูว่ายอดขายที่ได้มีส่วนต่างที่เป็นกำไรเยอะหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเยอะมากพอก็เน้นไปผลิตสินค้า Hero product อย่างเดียว ไม่ต้องผลิตสินค้าตัวอื่นแล้ว ก็จะช่วยให้มีกระแสเงินสดมากขึ้นค่ะ
ถ้าอยากให้มีเงินสดเพิ่มขึ้นกว่านี้ ให้ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และดูรายจ่ายของธุรกิจ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ซื้อทุกเดือนแล้วไม่ค่อยได้ใช้ อาจจะเปลี่ยนมาซื้อแบบรายครั้งแทน หรือถ้าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตลอด แต่กลับไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์กับธุรกิจเลย ตัดค่าใช้จ่ายไปเลยจะดีที่สุด ก็จะช่วยให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดหมุนเวียนได้มากขึ้นค่ะ
3. เจรจาเจ้าหนี้ กู้เงินเพิ่ม หรือเพิ่มทุน
สเตปสุดท้ายหลังจากที่เจ้าของธุรกิจได้เปลี่ยน Model ธุรกิจแล้วเอย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายแล้วเอย แต่หนี้ก้อนโตที่ยังค้างชำระ ธุรกิจจะแก้ยังไงต่อ?
อ๋อ…เรามีวิธีค่ะ ถ้าเจ้าของธุรกิจมีเครดิตที่ดีมาตลอด สามารถขอเจรจาหนี้กับธนาคารเพื่อขอจ่ายหนี้ช้า หรือหาทางออกในการชำระหนี้ได้นะคะ ก็จะช่วยให้เคลียร์หนี้ออกได้ง่ายขึ้นค่ะ
แล้วถ้าเจ้าของธุรกิจมีเงินไม่พอ แถมยังไม่มีเครดิต จะทำยังไงล่ะ?
สำหรับกรณีนี้ อาจจะต้องกู้เงินเพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนไปก่อน เพราะว่าเงินทุนเปรียบเสมือนกับเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ อีกทั้งถ้าธุรกิจวางแผนจัดสรรเงินเพื่อชำระหนี้ดี ๆ เพราะมีเรื่องของดอกเบี้ยที่ต้องระวัง ก็จะช่วยเพิ่มเครดิตให้กับธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ
แต่ถ้าไม่อยากกู้ และมีเงินส่วนตัวในปริมาณที่มากพอ ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง มีแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์ อาจจะเอาเงินส่วนนี้มาโปะเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน หรือจะไปเจรจาขอนักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นช่วยเพิ่มเงินทุนตรงนี้ให้กับธุรกิจก็ได้ค่ะ ก็จะตัดเรื่องความกังวลเรื่องหนี้ที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปนั่นเองค่ะ
สรุป เงินไม่พอ ธุรกิจไปต่อยังไง เช็คแบบไหนดี
เมื่อพบว่าธุรกิจของคุณกำลังมีปัญหา ขาดสภาพคล่อง จนมีเงินสดหมุนเวียนธุรกิจน้อย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสังเกตความผิดปกติของการเงินในธุรกิจ โดยเช็กที่เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ งบการเงิน และรายรับ – รายจ่าย จนพบสาเหตุที่แท้จริง จากนั้นรีบหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลง Model การทำธุรกิจ หรือหาเงินมาเพิ่มด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจุดนี้แหละ เป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ให้ไว ทำให้ทัน เพื่อป้องกันธุรกิจเจ๊งกะทันหันแบบไม่ทันตั้งตัวค่ะ
สำหรับคนที่อยากฟังนุชและพี่หนอมพูดคุยกันเรื่อง เงินไม่พอ ธุรกิจไปต่อยังไง เช็คแบบไหนดี ไปติดตามต่อกันได้ที่นี่เลยจ้า
บทความอื่นๆ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องงบการเงิน (คลิกที่นี่)
เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อ Line: @zerotoprofit