เจ้าของธุรกิจคนไหนที่มีลูกจ้างหรือพนักงานประจำ น่าจะเคยได้ยินว่าเราต้องยื่นแบบภาษีเป็นประจำทุกเดือนและทุกปี สำหรับปีนี้ฤกษ์ดีวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีแบบภาษีที่เรียกว่า “ภงด1ก” ที่เจ้าของธุรกิจต้องยื่นให้กรมสรรพากรให้เรียบร้อยค่ะ
แบบภาษีที่ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และวิธีการยื่นแบบออนไลน์ง่ายๆ ทำอย่างไรบ้าง Zero to Profit สรุปมาให้ฟังในบทความนี้เลยค่ะ
ภงด 1ก คืออะไร
แบบ ภ.ง.ด. 1ก คือ ใบสรุปการยื่นภาษีเงินได้สำหรับการจ้างงานสำหรับช่วงเวลาทั้งปี ที่จะแสดงเงินได้ของลูกจ้าง เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่นต่างๆ ค่าจ้างงาน เป็นต้น และในแบบนี้จะแสดงจำนวนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ตลอดทั้งปีด้วย
จ่ายเงินได้ประเภทไหนต้องยื่นแบบ ภงด 1 ก บ้าง?
เงินได้ที่ต้องรวมยื่นแบบ ภงด 1ก นั้น ประกอบด้วย เงินได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. เงินได้จากการจ้างแรงงาน ประเภท 40(1)
(ก) เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
(ข) เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างออกให้
(ค) เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านทนายจ้างที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
(ง) เงินค่าภาษีอากรที่นายจ้างหรือผู้อื่นออกแทนให้ ไม่ว่าในทอดใด
(จ) เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
(ฉ) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจาก การจ้างแรงงาน
2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ประเภท 40(2) ได้แก่
(ก) ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
(ข) เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
(ค) เงินค่าเช่าบ้านที่ผู้จ่ายเงินออกให้
(ง) เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
(จ) เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ไม่ว่าในทอดใด
(ฉ) เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
(ช) เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจาก หน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำ งานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำ ให้นั้นจะเป็นการประจำ หรือชั่วคราว
ข้อสังเกต: การยื่นแบบ ภงด 1ก ต้องรวมค่าภาษีอากร ที่เป็นของลูกจ้างเข้าไปด้วย แม้ว่าผู้จ่ายเงิน (นายจ้าง) หรือคนอื่นจะเป็นคนออกแทนให้ ไม่ว่าทอดใดก็แล้วแต่
ใครต้องยื่นแบบ ภงด 1ก. บ้าง?
หลายคนเข้าใจผิดว่า คนที่ต้องยื่นแบบ ภงด1 ก นั้น ต้องเป็นบริษัทใหญ่เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคนที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด1ก คือ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินแก่ลูกจ้างตามที่ระบุไว้ข้างบนค่ะ
ภงด 1ก ต่างกับ ภงด 1 ไหม
ภงด 1ก ต่างกับ ภงด1 โดยสรุปตามนี้
โดยปกติแล้ว ในทุกๆ เดือนเจ้าของธุรกิจจะต้องยื่น ภงด 1 และจ่ายชำระเงินหัก ณ ที่จ่ายค่ะ ส่วน ภงด.1 ก นั้นเจ้าของธุรกิจต้องยื่นเป็นประจำทุกปี โดยที่เป็นการสรุปเงินได้ทั้งหมดอีกครั้ง แม้จะไม่ได้มียอดภาษีที่ต้องชำระแต่อย่างใด
ภงด 1ก ต่างกับ ภงด 1ก พิเศษ อย่างไร
ภงด 1ก ต่างกับ ภงด 1ก พิเศษ โดยสรุปตามนี้
ภงด1 ก | ภงด1 ก พิเศษ | |
ประเภทเงินได้ | เงินได้ประเภท 40(1) และ 40(2) | เงินได้ประเภท 40(1) และ 40(2) |
ผู้จ่ายเงิน | บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล | ส่วนราชการเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือ ส่วนราชการตามท้องที่ |
ช่วงเวลา | ประจำปี ม.ค. – ธ.ค. | ประจำปี ม.ค. – ธ.ค. |
ยื่นแบบภายใน | ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไป (ยื่นออนไลน์วันที่ 8 ของเดือนถัดไป) | ภายในเดือนมกราคม ของปีถัดไป (เงินได้ประเภท 40(1) ยื่นภายในกุมภาพันธ์ของปีถัดไป) |
พูดง่ายๆ ก็คือ ภงด1 ก พิเศษ ใช้ในกรณีคนจ่ายเงินเป็นส่วนราชการนั่นเองค่ะ เจ้าของธุรกิจทั่วไปจึงไม่น่าต้องใช้แบบภาษีนี้นะคะ
ภงด1ก ยื่นออนไลน์ทำอย่างไร
รู้หรือไม่ เราสามารถยื่น ภงด1 ก แบบออนไลน์ได้แล้วนะ ขั้นตอนการยื่นแบบ ภงด 1 ก. ออนไลน์ทำได้ตามนี้
- Log-in เข้าสู่เว็บไซด์ยื่นแบบสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/login
- เลือกประเภทแบบ ภงด 1 ก.
- เลือกปีภาษียื่นแบบ – ย้ำว่าต้องเป็นปีภาษีเท่านั้นนะ แม้เราจะปิดงบรอบเดือนอื่นก็ช่าง การยื่นแบบ ภงด 1ก. ต้องยื่นสำหรับช่วง มค. – ธค. เท่านั้นทางเลือกเดียวจ้า
- เพิ่มข้อมูลผู้ถูกหักภาษีเงินได้แต่ละคน และกรอกรายละเอียดดังนี้
- ประเภทเงินได้
- ชื่อ ที่อยู่
- จำนวนเงินได้
- เงินที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย
- เงื่อนไขการหัก ณ ที่จ่าย
- ตรวจสอบสรุปรายการยื่นภาษี – จะตรวจสอบจากหน้าจอหรือดาวน์โหลด ภงด1 ก แบบแนบ มาตรวจสอบก็ได้
- ยืนยันเพื่อยื่นแบบภาษี และกดดาวน์โหลดแบบ และใบเสร็จรับเงิน
ตัวอย่างแบบ ภงด1ก
เราลองมาดูตัวอย่างแบบ ภงด 1ก. และแบบแนบกันค่ะว่า หน้าตาเป็นอย่างไรและมีจุดใดที่ต้องสังเกตบ้าง
เช็คยังไงว่ายื่น ภงด 1ก ครบแล้ว?
สิ่งที่คนยื่นแบบ ภงด 1 ก กลัวที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการเช็คยอดการยื่นแบบว่ายื่นครบถ้วนหรือไม่ วิธีเช็คว่ายื่นแบบ ภงด 1ก ครบไหมทำได้ ดังนี้
- เช็คจากรายงานเงินเดือน (Payroll Report) ที่ดึงออกมาเป็นรายปี และสรุปยอดการจ่ายชำระเงินทั้งหมดสำหรับ 40(1) และ 40(2) ค่ะ
- เช็คยอดรวมหัก ณ ที่จ่าย จาก ภงด1 ทุกเดือน ว่าตรงกับ แบบ ภงด1ก ไหม
ข้อควรระวัง
ถ้าใครเช็คความถูกต้องของ ภงด1 ก. จากจำนวนเงินที่บันทึกบัญชีไว้ได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องแยกบัญชีเงินเดือน สวัสดิการอย่างชัดเจน และต้องระมัดระวังเรื่องเกณฑ์เงินสดและเกณฑ์คงค้างตอนสิ้นปีด้วย เพราะ ภงด 1 ก เรายื่นแบบตามเกณฑ์เงินสด คือ ยึดตามยอดที่จ่ายเงินจริง แต่สำหรับสมุดบัญชีเราจะบันทึกตามเกณฑ์คงค้างค่ะ ดังนั้น ถ้าใครจ่ายเงินเดือน/โบนัสไม่ตรงเดือน ต้องให้ผู้ทำบัญชีช่วยกระทบยอดให้ก่อนยื่นแบบนะคะ
ลืมยื่น ภงด1 ก จะโดนค่าปรับเท่าไร
ถ้าเราไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก ภายในกำหนด อาจต้องรับผิดทางอาญา ถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร)
หรือถ้าเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น เพื่อหลีกเลี่ยง การเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำ คุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
อ่านมาจนถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจเรื่องแบบภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินพนักงานและลูกจ้างกันอย่างละเอียดแล้วใช่ไหมคะ และสำหรับใครที่ยังไม่เคยยื่นแบบภาษีด้วยตัวเองเลย อย่าลืมเช็คกับนักบัญชีด้วยค่ะว่ากิจการเราได้ยื่นทุกอย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เพื่อความสบายใจในการทำธุรกิจนะคะ
มีพนักงานแต่ไม่มั่นใจว่ายื่นภาษีถูกต้องไหม ปรึกษาเราได้ที่นี่
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit