ในยุคที่ใครๆ ก็มีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ ถ้าธุรกิจไปได้สวยหน่อย การเริ่มจดทะเบียนบริษัทก็ไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่า เมื่อเปิดบริษัท ต้องทำอะไรบ้าง…นอกจากไปจดจัดตั้ง พิมพ์นามบัตรและติดป้ายบริษัทไว้หน้าบ้าน มีหน้าที่สำคัญที่เจ้าของบริษัทห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด หนึ่งในนั้น ก็คือ หน้าที่เรื่องบัญชีและภาษีค่ะ
เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันแบบเน้นๆ ว่าจะเปิดบริษัท ต้องรู้อะไรบ้าง มีหน้าที่แบบไหน ในบทความนี้ค่ะ
1. ทำความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ก่อนจะไปดูเรื่องหน้าที่ว่าแต่ละเดือน หรือปีเราต้องทำอะไรบ้าง ลองมาดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันก่อนนะ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างหน่วยงานรัฐสุดฮิตที่ทุกบริษัทต้องติดต่อด้วย 3 ที่ดังนี้ค่ะ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD หรือ กรมพัฒน์) เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียน และการจัดทำบัญชีของบริษัทค่ะ
เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าจะบ้าย บาย เลิกกันได้เลยนะคะ เพราะว่า
กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องจัดทำบัญชี (แม้ไม่เต็มใจก็เหอะ) ตาม พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 ค่ะ
ปกติแล้ว บริษัทต้องเริ่มจัดทำบัญชีตั้งแต่วันแรกที่เปิดกิจการ และทำมาเรื่อยๆ ทุกเดือน สุดท้ายสิ้นปีก็ต้องจัดทำงบการเงินประจำปี
เจ้างบการเงินนี้หล่ะค่ะ ที่บริษัทต้องนำส่งให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เพื่อยืนยันว่าบริษัทของเราทำบัญชี ปิดงบ ตามกฎหมายนะ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ สามารถดำเนินการได้ที่เว็บไซด์ DBD E-filing ค่ะ
กรมสรรพากร
กรมสรรพากร คือ หน่วยงานทำหน้าที่เก็บภาษีจากการประกอบธุรกิจค่ะ (แหม่ แค่ได้ยินชื่อก็ขนหัวลุกแล้ว)
บางคนอาจเคยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนเป็นมนุษย์เงินเดือนกันมาบ้าง แต่สำหรับบริษัท ก็จะมีภาษีหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องข้องแวะกับสรรพากรเป็นประจำทุกเดือน (ไม่เหมือนบุคคลธรรมดานะ) และในแต่ละปีก็ยังมีภาษีที่ต้องยื่นอีกจำนวนนึง
สรุปง่ายๆ ก็คือ เปิดบริษัทแล้วชีวิตต้องวนเวียนข้องเกี่ยวกับสรรพากร อยู่ตลอดๆ เหมือนคู่ชีวิตเลยล่ะ ฮือ
สำนักงานประกันสังคม
ประกันสังคม คือ หน่วยงานที่เราต้องไปติดต่อด้วย ถ้ามีลูกจ้างในบริษัทตั้งแต่ 1 คนเป็นต้นไป เนื่องจาก
ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม มาตรา 34 กำหนดให้ นายจ้างหรือบริษัท ต้องขอขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้าง ตามกฎหมาย พร้อมกับขึ้นทะเบียนพนักงานหรือลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน
ประกันสังคมไม่จบเพียงเท่านี้ นายจ้างยังมีหน้าที่หักเงินประกันสังคมจากเงินเดือนพนักงาน นายจ้างต้องยื่นประกันสังคมทุกเดือน พร้อมกับเงินสมทบด้วยอีกด้วย
และยังไม่พอ ในระหว่างปีเราก็จะต้องนำส่งข้อมูลเงินเดือนพนักงานเพื่อคำนวณเงินสมทบกองทุนทดแทนอีกด้วยค่ะ
โดยสรุปแล้ว ถ้าเปิดบริษัทจะต้องเกี่ยวข้องกับ 3 หน่วยงานนี้เป็นประจำ ยกเว้น บริษัทที่เล็กๆ ไม่มีลูกจ้าง ก็ลดภาระในการติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมไปได้ 1 ที่จ้า
2. เปิดบริษัทมีหน้าที่ประจำเดือนอะไรบ้าง?
เอาล่ะ มาถึงหน้าที่ที่ต้องทำประจำในแต่ละเดือนกันบ้าง ลองมาดูทีละข้อเลยนะว่ามีอะไรบ้าง
ทำบัญชีบริษัท
บริษัทมีหน้าที่ต้องทำบัญชีของตัวเองด้วยนะ และอย่างน้อยในการทำบัญชีต้องมีสมุดบัญชีตามนี้ให้เรียบร้อย
- บัญชีรายวัน
- บัญชีแยกประเภท
- บัญชีสินค้า
- และบัญชีอื่นๆ ตามความจำเป็นของธุรกิจ
แม้ว่าเราจะทำบัญชีไม่เป็น ก็สามารถจ้างสำนักงานบัญชี หรือพนักงานบัญชีมาทำงานแทนให้ได้ค่ะ แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ก็คือ ต้องทำบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีรายการค้าเกิดขึ้นนะ (ไม่ใช่เก็บไว้ทำตอนปลายปี แบบนี้นักบัญชี หงายท้องตุยแน่นอน)
ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT
บริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ห้ามข้ามข้อนี้โดยเด็ดขาด
หนึ่งในหน้าที่ต้องทำเป็นประจำทุกเดือน ก็คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ภ.พ. 30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
และที่สำคัญ แม้จะว่ายังไม่มีรายได้ หรือค่าใช้จ่าย เมื่อบริษัทจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องยื่น VAT ทุกเดือน อย่าให้ขาดเลยค่ะ
แต่สำคัญบริษัทไหนที่ไม่ได้จด VAT ให้สบายใจ ข้ามข้อนี้ไปได้เลย (แต่ยังมีข้ออื่นๆ ที่ต้องทำนะ ฮ่าๆ)
ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินออกจากบริษัทค่ะ ซึ่งทุกคราวที่จ่ายเงินออกไป ถ้ากฎหมายกำหนดว่าให้หัก ณ ที่จ่าย เจ้าของธุรกิจทั้งหลายก็ต้องหักไว้ให้เรียบร้อย แล้วนำส่งภาษีให้กับสรรพากรในลำดับถัดไป
เข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นในบทความนี้: สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101
ส่วนแบบภาษีที่ต้องยื่นประจำทุกเดือน มีหลายประเภท ยกตัวอย่างแบบภาษีที่เจอบ่อย ได้แก่
- ภงด. 1 เงินเดือน หรือ ค่าจ้างพนักงานประจำ
- ภงด. 3 ภาษี หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่เงินเดือนพนักงานประจำ)
- ภงด. 53 ภาษี หัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคล
- ภงด 54 ภาษี หัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคลต่างประเทศ
สำหรับภาษีตัวนี้ ต้องยื่นให้สรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ถ้าเดือนไหนไม่มีหัก ณ ที่จ่าย ก็ทำตัวตามสบาย ไม่ต้องไปยื่นแบบนะคะ
ยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่เก็บจากธุรกิจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- ธนาคาร
- การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- การรับประกันชีวิต
- การรับจำนำ
- การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทที่มีเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลภายนอก ไม่ว่าจะกรรมการ หรือคนข้างบ้าน (แบบนี้ถือว่าการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน)
เมื่อได้รับดอกเบี้ย ก็จะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภพ. 40 พร้อมกับนำส่งภาษีแก่สรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปนะคะ
ประกันสังคม
บริษัทมีพนักงานประจำตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว
ทุกๆ เดือนบริษัทต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งส่วนเงินสมทบของพนักงานกับส่วนที่บริษัทสมทบให้กับพนักงาน
เงินสมทบ คืออะไร ?
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างของพนักงานที่ได้รับ ในอัตรา 5% ซึ่งค่าจ้างที่คำนวณต่ำสุด เดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน เดือนละ 15,000 บาท (เท่ากับ เงินสมทบ ขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท สูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท)
ทุกๆเดือนบริษัทต้องนำส่งเงินสมทบด้วย แบบ สปส.1-10 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
3. หน้าที่ประจำปี มีอะไรบ้าง?
นอกจากหน้าที่ประจำเดือน บริษัทยังมีหน้าที่ประจำปีที่ต้องทำเกี่ยวกับบัญชี ภาษี และประกันสังคมด้วยนะ เราขอสรุป หน้าที่ที่ทุกๆ บริษัทต้องทำประจำปีตามนี้เลย
งบการเงินประจำปี
ทุกสิ้นรอบบัญชี เมื่อปิดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทต้องทำงบการเงินประจำปี พร้อมกับงบการเงินนี้ต้องได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี ถึงจะนำส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าค่ะ
รอบการนำส่งงบ ช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่าเราจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อไร
โดยทั่วไปแล้ว เดดไลน์การจัดประชุมจะไม่เกิน 30 เมษายน ของปีถัดไป (กรณีปิดงบประจำปี 31 ธันวาคม) และงบการเงินที่ถูกตรวจสอบแล้ว จะต้องยื่นภายใน 1 เดือนหลังจากวันที่ประชุมนั่นเอง
ภาษีครึ่งปี
บริษัทมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีให้กับสรรพากร เหตุผลง่ายๆ ก็คือว่า แบ่งเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายครึ่งปีให้สรรพากรไปก่อน แล้วที่เหลือปลายปีจ่ายอีกทีเท่าไรค่อยว่ากัน
ทำให้บริษัทต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภงด. 51 ภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน และจ่ายภาษีครึ่งปี (ถ้ามี) ให้เรียบร้อย
แต่ถ้าบริษัทไหน เปิดแล้วดำเนินการยังไม่เต็มปี ปีแรก ก็ยังไม่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีนะคะ
ภาษีสิ้นปี
สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี บริษัทต้องคำนวณและนำส่งให้เรียบร้อยด้วย
ปกติแล้วเราต้องปิดงบการเงินให้เรียบร้อยก่อน และคำนวณภาษีเป็นรายการสุดท้าย ซึ่งฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณจะเป็นฐานกำไรสุทธิทางภาษี (คิดเริ่มต้นมาจากกำไรทางบัญชีนั่นล่ะค่ะ)
จำไว้ว่า บริษัทต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภงด. 50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ถ้าเลยจากนี้ อาจมีค่าปรับไม่รู้ด้วยนะ
กองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนให้กับลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างเกิดอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน
หน้าที่ของบริษัทจะต้องนำส่งข้อมูลเงินเดือนพนักงานให้กับสำนักงานประกันสังคมเป็นประจำทุกปี ผ่านแบบ กท. 20 ก ไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมประเมินเงินทดแทนที่นายจ้างต้องจ่ายชำระได้อย่างแม่นยำนั่นเอง
บทสรุป จะเปิดบริษัท ต้องรู้อะไรบ้าง
ก่อนจะเปิดบริษัท ต้องรู้อะไรบ้าง นุชขอสรุปสั้นๆ ตามนี้ค่ะ
- รู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- รู้ว่าแต่ละเดือนต้องทำอะไร
- รู้ว่าทุกปีต้องทำอะไร
เมื่อรู้ทั้ง 3 เรื่องนี้แล้ว เชื่อแน่นอนเลยว่า เพื่อนๆ ทุกคนจดบริษัทได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาด้านบัญชี ภาษี มากวนใจ ในระหว่างที่ทำธุรกิจแน่นอน (ส่วนปัญหาเรื่องอื่นๆ อันนี้ตัวใครตัวมันนะ ฮ่าๆ)
ขอให้โชคดีในการทำธุรกิจค่ะ
หาที่ปรึกษา จดทะเบียนบริษัทในแบบที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit