เดบิต เครดิต คืออะไร วุ้นแปลภาษา มาทำความเข้าใจศัพท์บัญชีกัน

เดบิต เครดิต คืออะไร วุ้นแปลภาษา มาทำความเข้าใจศัพท์บัญชีกัน

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่สนใจเรื่องการทำบัญชี แต่ยังสับสนกับคำว่า “เดบิต” และ “เครดิต” คืออะไร ทำไมมันเกี่ยวข้องกับธุรกิจเรานักนะ และนักบัญชีเองก็พูดคำศัพท์นี้อยู่บ่อยๆ

ไม่แปลกเลยค่ะ ที่ทุกคนจะไม่รู้จัก 2 คำนี้ (ก็เพราะไม่ใช่นักบัญชีนี่นา ฮ่าๆ) แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะบทความนี้ Zero to Profit จะขอเป็นวุ้นแปลภาษา พาทุกคนมาทำความเข้าใจศัพท์บัญชีที่สำคัญนี้ด้วยภาษาง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากคำว่า เดบิต และเครดิต ซึ่งเป็นศัพท์ยอดฮิตตลอดการไปพร้อม ๆ กันจ้า

เดบิต เครดิต คืออะไร?

“เดบิต” และ “เครดิต” เป็นคำที่ใช้ในทางบัญชี เพื่อบอกถึงการเพิ่มขึ้น หรือลดลง ของสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้ ค่าใช้จ่าย ภายในบัญชีค่ะ โดย

  • เดบิต (Debit) คือ การบันทึกรายการในด้านซ้ายของสมุดรายวันบัญชี แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หรือค่าใช้จ่าย และการลดลงของหนี้สิน ส่วนของเจ้าของ หรือรายได้
  • เครดิต (Credit) คือ การบันทึกรายการในด้านขวาของสมุดรายวันบัญชี แสดงถึงการลดลงของสินทรัพย์หรือค่าใช้จ่าย และการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน ส่วนของเจ้าของ หรือรายได้

ทั้งสองคำนี้จะใช้คู่กันเสมอ แต่เป็นขั้วตรงกันข้าม เพื่อทำให้การบันทึกบัญชีสมดุลกัน มันคือการที่เราเพิ่มหรือหักเงินในแต่ละบัญชีอย่างสมเหตุสมผล มีที่มาที่ไปนั่นเองค่ะ

จากที่เราอธิบายกันมา ขอแค่เจ้าของธุรกิจจำไว้ว่าถ้ามีเดบิตแล้วต้องบันทึกคู่กับเครดิตเสมอในทางบัญชี เพราะทุกครั้งที่เกิดรายการค้า จะมีสิ่งหนึ่งเพิ่ม และสิ่งหนึ่งลดอยู่เสมอเท่านี้ก็พอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนประวัติศาสตร์ด้านบัญชีให้ยุ่งยาก

และต่อมาเราจะมาทำความเข้าใจสมการบัญชี พร้อมกับหลักการคู่บัญชีกันค่ะ

ทำความเข้าใจสมการบัญชี และหลักการคู่บัญชี

ทำความเข้าใจสมการบัญชี
ทำความเข้าใจสมการบัญชี

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง เดบิต เครดิต มาทำความรู้จัก “สมการบัญชี” กันก่อนค่ะ ซึ่งจะประกอบไปด้วย

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

และในการทำบัญชีแบบคู่ ทุกครั้งที่มีการบันทึกธุรกรรม จะต้องมีการเดบิต เครดิตที่มีมูลค่าเท่ากัน เช่น ถ้าเราใช้เงินสดซื้อสินค้า เราจะเดบิตบัญชีสินค้าสำหรับมูลค่าของสินค้าที่ซื้อ และเครดิตบัญชีเงินสดสำหรับจำนวนเงินที่จ่ายไปค่ะ

ซึ่งในทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น เช่น การซื้อขายสินค้า การจ่ายเงินเดือน หรือการจ่ายค่าสาธารณูปโภค จะต้องบันทึกทั้งด้านเดบิต และเครดิต เพื่อให้สมการบัญชีคงสมดุลเสมอค่ะ

ใครที่ยังงงอยู่ว่า สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ คืออะไร แนะนำอ่านบทความนี้เพิ่มเติม คำศัพท์บัญชีอะไรบ้าง ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้

หลักการเดบิต และเครดิต

หลักการเดบิต เครดิต
หลักการเดบิต เครดิต

การทำความเข้าใจหลักการของ “เดบิต และเครดิต” สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

การบันทึกบัญชีจะมีการบันทึกทั้งฝั่ง “เดบิต” และ “เครดิต” โดยแต่ละประเภทของบัญชีจะมีวิธีการบันทึกที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักการเบื้องต้นคือ

  • เดบิต (Dr.) จะเพิ่มในกรณีที่เป็น สินทรัพย์ และค่าใช้จ่าย
  • เครดิต (Cr.) จะเพิ่มในกรณีที่เป็น หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ และรายได้

จากตารางนี้ จะเห็นได้ว่า

  • สินทรัพย์และค่าใช้จ่าย เมื่อเพิ่มขึ้นให้ลงด้าน Dr. เมื่อลดลงให้ลงด้าน Cr.
  • หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ และรายได้: เมื่อเพิ่มขึ้นให้ลงด้าน Cr. เมื่อลดลงให้ลงด้าน Dr.

ง่ายใช่ไหมล่ะคะ? แค่จำว่าอะไรเพิ่มขึ้น อะไรลดลง แล้วลงบัญชีให้ถูกด้านตามตารางนี้ เท่านี้ก็เข้าใจหลักการแล้วค่ะ

ตัวอย่างการเดบิต และเครดิต

มาดูตัวอย่างการใช้เดบิต เครดิต กัน ซึ่งเราจะใช้ตารางแบบนี้ในการบันทึกรายการค่ะ

A เปิดร้านกาแฟ ด้วยเงินทุน 100,000 บาท
Dr. เงินสด 100,000 หมายถึง สินทรัพย์ ที่เป็นเงินสดของกิจการเพิ่มขึ้น
Cr. ส่วนของเจ้าของ (ทุน) 100,000 หมายถึง ส่วนที่เป็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้น

ซื้อเครื่องชงกาแฟราคา 50,000 บาท
Dr. อุปกรณ์ 50,000 หมายถึง สินทรัพย์ ที่เป็นอุปกรณ์ของกิจการเพิ่มขึ้น
Cr. เงินสด 50,000 หมายถึง สินทรัพย์ ที่เป็นเงินสดของกิจการลดลงไป เนื่องจากเอาไปซื้อเครื่องชงกาแฟนั่นเอง

ตัวอย่างการ Dr. Cr.
ตัวอย่างการ Dr. Cr.

ขายกาแฟได้ 1,000 บาท
Dr. เงินสด 1,000 หมายถึง สินทรัพย์ ที่เป็นเงินสดของกิจการเพิ่มขึ้น
Cr. รายได้จากการขาย 1,000 หมายถึง กิจการขายสินค้าได้มูลค่า 1,000 บาททำให้รายได้เพิ่มขึ้น

จ่ายค่าเช่าร้าน 10,000 บาท
Dr. ค่าเช่า 10,000 บาท หมายถึง กิจการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
Cr. เงินสด 10,000 หมายถึง กิจการจ่ายเงินออกไป ทำให้สินทรัพย์ของกิจการลดลง

ตัวอย่างการ Dr. Cr.
ตัวอย่างการ Dr. Cr.

เห็นไหมคะว่าไม่ยากอย่างที่คิด? ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวของเงินหรือทรัพย์สินในร้าน เราก็แค่คิดว่า

อะไรเพิ่มขึ้น? (ลงด้าน Dr. หรือ Cr. ตามหลักการที่เราเรียนมา)

อะไรลดลง? (ลงด้านตรงข้าม)

แล้วบันทึกให้ยอดทั้งสองด้านเท่ากันเสมอ ลองมาดูภาพรวมของร้านกาแฟ A หลังจากรายการทั้งหมดนี้กันนะคะ

เงินสด: 100,000 – 50,000 + 1,000 – 10,000 = 41,000 บาท

อุปกรณ์: 50,000 บาท

รายได้: 1,000 บาท

ค่าใช้จ่าย: 10,000 บาท (ค่าเช่า)

สมการบัญชีของเรา สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ ยังคงสมดุลอยู่ไหมมาดูกันค่ะ

สินทรัพย์ (41,000 + 50,000) = หนี้สิน (0) + ส่วนของเจ้าของ (100,000 – 10,000 + 1,000)
91,000 = 91,000 ทั้งสองฝั่งมีตัวเลขเท่ากัน แสดงว่าสมการบัญชีของเราสมดุลค่ะ

จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ว่า การบันทึกบัญชี “เดบิต” และ “เครดิต” จะมีผลกระทบต่อยอดคงเหลือของบัญชีต่าง ๆ อย่างไร หากเราสามารถเข้าใจหลักการพื้นฐานเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การอ่าน และการทำบัญชีของเราง่ายขึ้นมากเลยค่ะ

ใครอยากอ่านงบดุลให้เก่ง แนะนำ อ่านงบดุลอย่างเข้าใจผ่านตัวอย่าง งบดุลง่ายๆ แค่ 5 นาทีรู้เรื่อง

เจ้าของธุรกิจต้องรู้เดบิต เครดิตไหม หรือปล่อยให้นักบัญชีทำให้ก็พอ

เจ้าของธุรกิจควรรู้ เดบิต เครดิตไหม
เจ้าของธุรกิจควรรู้ เดบิต เครดิตไหม

คำตอบคือ ควรรู้ค่ะ! แม้ว่าคุณจะมีนักบัญชีคอยดูแลเรื่องนี้ให้ แต่การเข้าใจหลักการเดบิต และเครดิต ก็มีประโยชน์มาก ๆ เลยนะคะ เพราะว่าการรู้เรื่องบัญชีง่ายๆ อย่างเดบิตเครดิตนั้นทำให้

  • เข้าใจสถานะทางการเงินของธุรกิจได้ดีขึ้น
  • สามารถตรวจสอบความถูกต้องของงบการเงินได้คร่าว ๆ
  • วิเคราะห์อัตราส่วนการเงิน ช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
  • สื่อสารกับนักบัญชี และที่ปรึกษาทางการเงินได้เข้าใจตรงกัน

แม้จะไม่ได้รู้เป๊ะ 100% แต่อย่างน้อยสามารถตั้งคำถาม สอบถามนักบัญชี หรือว่าพนักงานบัญชีของเราได้ ก็ถือว่าสอบผ่านแล้วค่ะ

สรุป

สรุปแล้ว การที่เจ้าของธุรกิจรู้เรื่องเดบิต เครดิตนั้น เป็นแต้มต่อในการทำบัญชีธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้เราเข้าใจเรื่องบัญชีภายในธุรกิจตัวเองได้มากยิ่งขึ้นด้วย ทุกครั้งที่อ่านงบการเงิน ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีพอ ทุกคนจะสามารถวิเคราะห์งบตัวเองได้ดีขึ้น และมองเห็นอนาคตของธุรกิจจากงบได้อย่างจริงๆ จังๆ เสียทีค่ะ

สุดท้ายแล้ว บัญชีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด? ขอเพียงแค่เข้าใจหลักการง่าย ๆ ก็ช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมทางการเงินของธุรกิจได้ดีขึ้นแล้วค่ะ

อยากมีบัญชี และเข้าใจผลประกอบการธุรกิจตัวเองจริงๆ ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง