รู้จักกำไร 3 ขั้น ในงบกำไรขาดทุน

รู้จักกำไร 3 ขั้น ในงบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน ไม่ได้มีไว้แค่บอกว่าธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไรในปีเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว งบกำไรขาดทุนบอกเราได้ว่าเจ้าของธุรกิจบริหารงานในแต่ละส่วนได้เก่งกาจขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการบริหารต้นทุน การจัดการด้านการขาย และการจัดการภายในออฟฟิศ

แต่เคยสงสัยมั้ยว่าเราจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะที่เคยรู้มาว่า มีกำไรก็คือ ดี แบบนี้ยังไม่จบจริงๆ หรอ วันนี้ Zero to Profit จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องกำไร 3 ขั้น เพื่ออ่านงบกำไรขาดทุนลึกขึ้นกว่าเดิมที่เคยเป็น

กำไร 3 ขั้นมีอะไรบ้าง?

  1. กำไรขั้นต้น
  2. กำไรจากการดำเนินงาน
  3. กำไรสุทธิ

ลองดูภาพตัวอย่างในนี้ก่อน จากนั้นลองมาทำความเข้าใจกำไรแต่ละขั้นไปพร้อมๆ กันค่ะ

กำไร 3 ขั้นในงบกำไรขาดทุน
กำไร 3 ขั้นในงบกำไรขาดทุน

กำไรขั้นต้น (Gross Margin)

คือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินงานหลัก คำนวณจาก รายได้หลัก หักด้วย ต้นทุนขาย

ต้นทุนขายนี้เปรียบเสมือนต้นทุนหลักของธุรกิจที่ทำให้เกิดรายได้ ถ้าควบคุมการผลิตได้ดีต้นทุนขายก็จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ตัวต้นทุนขายนี้มันจะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายสินค้าเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าผลิตเสร็จแต่ยังขายไม่ได้ ตัวต้นทุนขายส่วนนี้จะยังไม่เกิดในงบกำไรขาดทุน

เช่น ถ้าเราเป็นโรงงานผลิตน้ำอัดลม ยอดขายจะเกิดขึ้นจากปริมาณสินค้าที่ขายได้ x ราคาขายต่อหน่วย และในส่วนของต้นทุนขายก็เช่นกัน มันเกิดขาย ปริมาณสินค้าที่ขายได้ x ต้นทุนขายต่อหน่วย

สำหรับงบการเงินตัวอย่างนี้ เราคำนวณกำไรขั้นต้น = รายได้หลัก – ต้นทุนขาย = 380,000 – 200,000 = 180,000 บาท คิดเป็นประมาณ 47% ของรายได้ ถือว่าดีไม่น้อยเลยทีเดียว

กำไรขั้นต้น (Gross Margin)
กำไรขั้นต้น (Gross Margin)

กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income)

คือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินงานหลักและการดำเนินงานรอง คำนวณจาก รายได้ทั้งหมด หักด้วย ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร

แน่นอนว่าการที่จะทำมาค้าขายได้ไม่ใช่จะมีแค่ฝ่ายผลิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราจะต้องมีการทำโฆษณา Marketing รวมไปถึงมีลูกน้องพนักงานช่วยงานต่างๆ ใน office ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า ค่าใช้จ่ายรอง หรือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าแต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ธุรกิจจะต้องมี

จากตัวอย่างเดิม โรงงานผลิตน้ำอัดลม ต้องมีทั้งแผนก Marketing และ Sale ที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการขาย รวมไปถึงแผนกบัญชีและการเงินที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการบริหาร พอเอาค่าใช้จ่ายทั้ง ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมารวมกัน ก็จะได้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงาน

ถ้าลองคำนวณกำไรจากการดำเนินงาน จากงบตัวอย่างจะได้

กำไรจากการดำเนินงาน = รายได้รวม – ค่าใช้จ่ายรวม = 380,140 – 239,000 = 141,140 บาท คิดเป็น % ส่วนรายได้เท่ากับ 37%

เพียงเท่านี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่า แผนกที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายรอง ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเทียบกับผลงานก็คือ ยอดขายรวม

กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income)
กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income)

กำไรสุทธิ (Net Income)

คือ กำไรขั้นสุดท้ายจากการทำธุรกิจ ซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถของเจ้าของกิจการในภาพรวมทั้งบริษัท

กำไรสุทธิ คำนวณจาก นำรายได้ทั้งหมด ค่าใช้จ่ายรวม และต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยเงินกู้) และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้

สาเหตุที่งบนี้แยกค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และภาษีออกมา เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายรอง แต่ทว่าดอกเบี้ยเงินกู้เป็นค่าใช้จ่ายจากการจัดหาเงินที่ทำให้มีเงินทุนในประกอบกิจการ และภาษีเองก็จำใจต้องจ่ายตามกฎหมายกำหนด

สมมติถ้าเราเป็นโรงงานผลิตน้ำอัดลมขาย และมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและภาษีเยอะๆ ก็อาจทำให้ภาพรวมกำไรบริษัทที่ปั้นมาอย่างดิบดี ดูแย่ลงภายในพริบตา

ทีนี้ลองมาคำนวณจากงบตัวอย่างกัน

กำไรสุทธิ = รายได้รวม – ค่าใช้จ่ายรวม – ต้นทุนทางการเงิน – ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ = 380,140 – 239,000 – 300 – 25,000  = 115,840 บาท คิดเป็น % ส่วนรายได้เท่ากับ 30%

กำไรสุทธิ (Net Income)
กำไรสุทธิ (Net Income)

โดยสรุปแล้ว ถ้าจะประเมินผลการทำงานในแต่ละฝ่ายเราดูง่ายๆ จากอัตรากำไร 3 ประเภท

1. กำไรขั้นต้น บอกผลการบริหารการผลิตและต้นทุนสินค้า

2.กำไรจากการดำเนินงาน บอกผลการบริหารฝ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการผลิต

3.กำไรสุทธิ บอกผลการบริหารทั้งหมดในภาพรวม ที่ดูเรื่องต้นทุนการกู้ยืมเงิน และการประหยัดภาษีได้ด้วย

ถ้าเราเข้าใจกำไร 3 ขั้นได้ดีพอ และวิเคราะห์ทั้งตัวและเปอร์เซนต์ต่อรายได้ งบกำไรขาดทุนอาจทำให้มุมมองการบริหารธุรกิจเราเปลี่ยนไปแบบคาดไม่ถึงเลยล่ะ

อยากเข้าใจงบกำไรขาดทุนมากขึ้น ลองเรียนรู้ประเภทค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนที่นี่เลย

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ