เปิดธุรกิจมาสักพัก อยากดึงเงินออกมาใช้บ้างต้องทำยังไง? เปิดร้านแล้วเงินในร้านเยอะมาก แต่เงินส่วนตัวไม่ค่อยพอใช้เลย แก้ปัญหายังไงดี? จ่ายเงินเดือนตัวเองสัก 1 แสนแบบนี้สรรพากรจะว่าพี่หรือเปล่า?
ถ้าใครกำลังตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้อยู่ แล้วยังหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ ลองมาทำความเข้าใจเรื่องเจ้าของธุรกิจ เงินเดือนเท่าไร ต้องคิดอะไรบ้าง แล้วคุณจะรู้ว่า อ้อ…ที่แท้มันต้องคิดแบบนี้นี่เอง
เจ้าของธุรกิจ เงินเดือนเท่าไร ต้องคิดอะไรบ้าง ?
ก่อนจะไปคิดว่าเจ้าของธุรกิจเงินเดือนเท่าไรดี เราควรตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ค่ะ
1. เราทำประโยชน์อะไรให้ธุรกิจบ้าง
ถ้าใครติดตาม Zero to Profit ก็น่าจะรู้ว่าเราย้ำกับทุกคนอยู่เสมอว่า ให้มองแยกกันระหว่าง “ส่วนตัว” และ “ธุรกิจ” เพราะมันช่วยให้เราบริหารหลายๆ อย่างได้ชัดเจนขึ้น
ก่อนจะไปคิดเงินเดือนให้กับตัวเอง ลองมานั่งคิดกันก่อนว่าทุกวันนี้เราทำประโยชน์อะไรให้กับธุรกิจบ้าง?
เราทำ “ประโยชน์” อะไรให้กับธุรกิจบ้าง มันสำคัญยังไง
ความสำคัญก็คือ มันจะช่วยบอกเราได้ว่าเจ้าของธุรกิจเนี่ยควรจะมีผลตอบแทนจากอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าเราให้เงินทุน = ควรได้รับเงินปันผล
- ถ้าเราให้กู้ยืม = ควรได้รับดอกเบี้ย
- ถ้าเราให้เช่าทรัพย์สิน = ควรได้รับค่าเช่า
- ถ้าเราเป็นคนบริหารงาน = ควรได้รับเงินเดือน
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างผลตอบแทนที่เจ้าของธุรกิจควรจะได้รับ (ถ้าเราได้ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจจริง)
ถ้าทำประโยชน์ให้แบบไหน ผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท
และในส่วนเงินเดือน น่าจะเป็นผลตอบแทนที่คำนวณยากที่สุดในบรรดาตัวอย่างที่เรายกมา เพราะว่าอ้างอิงจากคนอื่นก็ยาก ไม่เหมือนค่าเช่า หรือเงินกู้
แล้ววิธีคิดเงินเดือนให้ตัวเองแบบเบสิคพื้นฐาน เราคิดจากอะไรได้บ้าง และต้องเช็คอะไรอีกบ้าง ลองมาดูวิธีการกัน
2. เช็ครายจ่ายส่วนตัว
ทุกคนคงสงสัยใช่ไหมว่ารายจ่ายส่วนตัวเกี่ยวอะไรกับ “เงินเดือน” ที่เราจะได้จากธุรกิจ?
ถ้าเราลองย้อนกลับไปคิดง่ายๆ ตอนเริ่มต้นธุรกิจ เราก็คาดหวังว่าการทำธุรกิจจะช่วยเลี้ยงชีพเราได้ แทนที่จะเป็นพนักงานออฟฟิศตลอดไป หรือมันควรจะหาเงินให้เราเพิ่มจากงานประจำใช่ไหมล่ะ
ทีนี้ถ้าธุรกิจจะเลี้ยงชีพเราได้จริง มันก็ต้องมีเงินเพียงพอ ที่จะดูแลรายจ่ายส่วนตัวของเราเองในแต่ละเดือนจริงไหม
แล้วเราจะเอาเงินออกจากออฟฟิศมาใช้เท่าไรดี เรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับสำรวจตัวเองอีกทีว่า แต่ละเดือนเราใช้เงินจริงๆ เท่าไรกันแน่
ลองแบ่งเป็นหมวดหมู่ง่ายๆ แบบนี้ก็ได้
- ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่ากินอยู่
- ที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่า ค่าส่วนกลาง ค่าซ่อมแซมบ้าน
- น้ำไฟ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต
- หนี้ส่วนตัว บางคนมีหนี้บัตรเครดิต หนี้ กยศ. รวมหนี้ที่ต้องเคลียร์ตรงนี้ไว้ด้วย
- เก็บออม แบ่งเป็น 2 อย่างขั้นต่ำ คือ เงินฉุกเฉิน กับ เงินออมตอนเกษียญ
ยิ่งถ้าใครจดบัญชีรับจ่ายส่วนตัวไว้ เราจะรู้เลยว่า เดือนๆ นึงเนี่ย ชีวิตเราต้องใช้เงินเท่าไรบ้าง อาจจะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปตามแต่บุคคลนะ
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องได้จากตรงนี้ คือ ต้องรู้ยอดรวมแต่ละเดือน เพื่อไปคิดเงินเดือนต่อได้
และแถมท้ายนิดนึงส์ ไหนๆ ก็รวบรวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวไว้แล้ว ลองคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายตามประเภทดูว่ารายจ่ายแต่ละอย่างเนี่ยมันเป็น % เท่าไรบ้างของรายจ่ายทั้งหมด เพราะสุดท้ายเราอาจจะถึงบางอ้อว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการเงินเดือนเยอะ แต่เราจ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายต่างหากล่ะ555 (แอดมินเองก็ถึงบางอ้อเช่นกันว่า ค่ากินของเรามันเกินหน้าค่าใช้จ่ายหลายอย่างไปเยอะเลย Y Y)
ถ้าเป็นแบบนี้ต้องแก้ที่ตัวเองก่อนเลย แล้วค่อยไปคิดเรื่องตั้งเงินเดือนในลำดับถัดไป
3. เช็คกำไรขาดทุนธุรกิจ
ถัดมาเราพอจะรู้ตัวเลข รายจ่ายส่วนตัว ที่ช่วยให้เราคิดเงินเดือนต่อเดือนคร่าวๆ ได้แล้ว
ทีนี้เราลองมาดูกันต่อ ในฝั่งธุรกิจเองเราต้องเช็คกำไรขาดทุนด้วยเช่นกัน ว่าจ่ายเงินเดือน และผลตอบแทนอื่นๆ แล้ว ธุรกิจยังมีกำไรเหลือหรือเปล่า
เริ่มต้นจากสมการง่ายๆ
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไรขาดทุน
เงินเดือน ค่าเช่า ดอกเบี้ย เป็นส่วนนึงของค่าใช้จ่าย
ส่วนเงินปันผล เป็นผลตอบแทนที่จ่ายหลังจากธุรกิจมีกำไร
ทีนี้ลองคิดเล่นๆ ถ้าธุรกิจต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับเจ้าของตามความเป็นจริง แล้วสุดท้ายธุรกิจยังมีกำไรอยู่รึป่าว
เพียงเท่านี้มันก็ช่วยตอบคำถามของธุรกิจได้แล้วว่า ธุรกิจที่เราทำมีกำไรดีพอหรือไม่
คำว่า “ดีพอ” ในทีนี้ วัดจากการจ่ายผลตอบแทนแบบปกติให้กับเจ้าของ ถ้าจ่ายแล้วธุรกิจขาดทุน แปลว่า ตอนนี้เรายังต้องพัฒนาหลายสิ่งในธุรกิจอีกเยอะเลยล่ะ
4. เช็คเงินสดธุรกิจ
นอกจากเรื่องกำไร เงินสดเองก็สำคัญไม่แพ้กัน
ถ้าพอจะรู้แล้วว่าจะจ่ายเงินเดือนตัวเองเท่าไร ค่าเช่า ดอกเบี้ย ปันผลมีมั้ย ให้มาดูเรื่องเงินสดกันต่อว่า ถ้าจ่ายเงินค่าตอบแทนทั้งหมดออกไปแล้ว ธุรกิจจะยังรอดหรือเปล่า
จากสมการนี้
เงินเข้า – เงินออก = เงินเหลือ
ถ้าจ่ายเงินออกไปเป็นค่าตอบแทนแล้ว เงินยังเหลือพอใช้จ่ายในธุรกิจมากกว่า 6 เดือนและหมุนได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แบบนี้เราสบายใจได้เลยล่ะ ว่าเงินส่วนนี้เราเอาไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ไม่ต้องกังวล
แต่ถ้าเงินออกไปแล้ว เงินสดที่เหลือยู่ติดลบ สุดท้ายธุรกิจไม่มีเงินหมุน เจ้าของธุรกิจก็เป็นคนแรกๆ ที่ต้องซัพพอร์ทเงินเข้ามาอยู่ดี
ทีนี้…จะมีประโยชน์อะไรที่จะจ่ายค่าตอบแทนออกไป ถ้าธุรกิจยังยืนไม่ได้ด้วยตัวเอง สุดท้ายเราก็ต้องหันกลับมาบริหารเงินธุรกิจให้อยู่รอดเหมือนเดิม จริงไหมล่ะ
ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจแบบไหน การจ่ายเงินเดือนตัวเองหรือผลตอบแทนให้ตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองนั้นจะประเมินจากราคาตลาดแบบจ่ายเงินเดือนพนักงานอย่างเดียวก็ไม่ได้
เพราะสิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ คือ เราจะบาลานซ์ยังไง ให้ตัวเองได้ผลตอบแทนที่พอใจ กับ ความอยู่รอดของธุรกิจ
เพราะอย่าลืมว่า หากธุรกิจไปไม่รอด ตัวเราเองก็จะพลอยลำบากไปด้วย แต่ในทางกลับกันหากเราไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ กลับมาจากธุรกิจเลย ก็ไม่แฟร์สักนิดกับเวลาที่เสียไปให้กับธุรกิจจริงไหมล่ะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ คิดเงินเดือนเจ้าของธุรกิจแบบเหมาะสม ติดต่อ Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit