ถ้าอยากทำธุรกิจอย่างราบรื่น ให้ลองเริ่มจากการจัดการเอกสารให้เป็นระบบ
จริงๆ แล้วธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับวงจรเอกสารต่างๆ มากมาย แต่หนึ่งในเอกสารที่สำคัญที่สุด ก็คือ เอกสารการขายสินค้า ที่เป็นหัวใจในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดหล่อเลี้ยงกิจการ
ในการขายสินค้าแต่ละครั้ง ควรมีเอกสารจำเป็นอะไรบ้าง และหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะมาสรุปให้ทุกคนฟังในโพสนี้กัน
1.ทำความรู้จักวงจรการขาย
ถ้าอยากเข้าใจเอกสารการขายให้ทะลุปรุโปร่ง ต้องเข้าใจวงจรการขายเสียก่อน
วงจรการขาย เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการขาย ตั้งแต่เริ่มไปจนจบกระบวนการ
โดยปกติแล้วธุรกิจขายสินค้า จะมีขั้นตอนการขายหลักๆ คล้ายๆ กัน ตามนี้
- เสนอราคา = การเสนอลูกค้าว่าเรามีสินค้าอะไรบ้าง และราคาเป็นเท่าไร ซึ่งขั้นนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขายของฝ่ายขายและการเจรจาตกลงราคากับลูกค้า ยิ่งข้อเสนอที่มอบให้ลูกค้าน่าสนใจมากเท่าไรก็มีโอกาสที่เราจะได้รับคำสั่งซื้อในขั้นตอนถัดไป
- รับคำสั่งซื้อ = หลังจากลูกค้าตัดสินใจจะซื้อสินค้า ส่วนใหญ่จะส่งคำสั่งซื้อเข้ามาทางบริษัท และเราต้องเช็คสินค้าในคลังว่ามีเพียงพอมั้ย ถ้าเพียงพอที่จะขายหรือผลิตทันตามคำสั่งซื้อ ฝ่ายขายก็รับคำสั่งซื้อได้ทันที
- ส่งสินค้า = การส่งสินค้านอกจากจะต้องส่งให้ถูกต้องตามชนิดและจำนวนแล้ว ยังต้องตัดสต๊อกออกจากคลังด้วย โดยทั่วไปจุดนี้เป็นจุดที่กิจการสามารถรับรู้รายได้ตามหลักบัญชี พร้อมๆ กับลูกหนี้การค้า
- วางบิล = ขั้นตอนนี้มักเกิดขึ้นกับกิจการที่ส่งของให้กับลูกค้าจำนวนมากและลูกค้าต้องการให้รวบรวมบิลแจ้งหนี้ทั้งหมดพร้อมกัน ฉะนั้น การวางบิลเอกสารต้องเป๊ะเสมอ เพราะหากพลาดรอบวางบิลนี้ไป อาจต้องรอไปอีกเดือนกว่าลูกค้าจะรับวางบิลใหม่อีกครั้ง
- รับชำระเงิน = วางบิลแล้ว ขั้นสุดท้ายของกระบวนการขาย เป็นขั้นที่เจ้าของกิจการทั้งหลายเฝ้ารอ คือ ขั้นตอนการรับเงินจากลูกค้า (หากขายสินค้าแบบเครดิต)
แต่ก็ใช่ว่าทุกๆ ธุรกิจต้องมีครบทั้งหมด 5 ขั้นตอนแบบตัวอย่างข้างบน เพราะขั้นตอนเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่นได้ให้เหมาะสมกับกิจการ เช่น ถ้าเป็นธุรกิจขายสด ข้อ 3 ถึง 5 อาจถูกยุบรวมเป็นขั้นตอนเดียวไปเลยก็ได้
2.เอกสารการขายมีอะไรบ้าง
เพื่อความไม่สับสน เราขอแยกประเภทเอกสารที่เกี่ยวข้องออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามนี้
1.เอกสารให้ลูกค้า (ภายนอก) = เอกสารที่ต้องส่งให้ลูกค้าเป็นหลักฐานการค้า ส่วนกิจการเก็บสำเนาไว้สำหรับทำบัญชี เอกสารให้ลูกค้านี้ เราแนะนำว่ารูปแบบต้องสวย เนื้อหาต้องถูกต้อง ที่สำคัญใครจด Vat อย่าลืมทำให้ถูกต้องตามหลักสรรพากรด้วย
2.เอกสารภายใน = เอกสารที่จัดทำขึ้นภายใน เพื่อช่วยให้กิจการบริหารจัดการการขายได้ดียิ่งขึ้น เอกสารภายในนี้ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวที่กำหนดไว้ ดังนั้น ถ้าเจ้าของกิจการอยากรู้อะไร อยากให้มีการควบคุมที่ดีตรงไหนก็จัดเต็มได้เลย ยกตัวอย่างเอกสารภายใน เช่น
- ใบรับสั่งซื้อ
- รายงานยอดขาย
- รายงานลูกหนี้
- รายงานรับชำระเงิน
- กระทบยอดบัญชีธนาคาร
ในทั้ง 5 ขั้นของวงจรขาย มีเอกสารที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ลองดูที่ตารางสรุปได้เลย
3.ตัวอย่างเอกสารการขายที่จำเป็น
ด้วยเหตุที่ว่าเอกสารที่ส่งให้ลูกค้าควรมีความเป๊ะระดับนึง ฉะนั้น เราจึงขออนุญาตยกตัวอย่างเอกสารภายนอกเหล่านี้ให้เจ้าของกิจการลองดูเป็นตัวอย่างกันไปทีละเอกสารเลย
1) ตัวอย่างใบเสนอราคา
ใบเสนอราคา จะถูกจัดทำขึ้นในขั้นตอนเสนอราคา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการขาย โดยส่วนใหญ่แล้วใบเสนอราคาควรจะระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ 1) สินค้า 2) ราคา 3) รายละเอียดติดต่อ ให้ชัดเจน ถ้าใครเสนอราคาแล้วไม่เคยรับการติดต่อกลับมาเลย ลองเช็คที่ใบเสนอราคาดีๆ ว่ามีข้อความตรงไหนที่ไม่ชัดเจนบ้าง เผลอๆ อาจให้เบอร์ผิดกับลูกค้า กลายเป็นพลาดโอกาสดีๆ ไป และที่สำคัญใบเสนอราคาที่ลูกค้าเซนต์รับแล้วจัดเป็นสัญญาซื้อขายที่ดีเลยล่ะ เพราะมันแปลว่าเค้ายอมรับข้อเสนอเราแล้ว เสมือนทำธุรกิจสำเร็จไปเปราะหนึ่ง
2) ตัวอย่างใบส่ง/ใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี
เอกสารชื่อยาวขนาดนี้มีอยู่จริงในโลกนะ ต้องขออธิบายก่อนว่าเอกสารฉบับนี้จริงๆ แล้วโดยหลักการเป็นจะเอกสารแจ้งการจัดส่งสินค้า ที่ระบุชนิด ปริมาณ และราคาที่ชัดเจน
เอกสารนี้มักจะออกพร้อมๆ กับการแจ้งหนี้ไปในตัว ส่วนใบกำกับภาษี จะใส่หัวข้อนี้ก็ต่อเมื่อกิจการจด Vat แล้วเท่านั้น (ถ้าไม่ได้จด vat ไม่มีสิทธิใส่คำว่าใบกำกับภาษีนะจ๊ะ)
3) ตัวอย่างใบวางบิล
หลายคนคงมีคำถามว่าจริงๆ เราก็แจ้งหนี้ไปพร้อมกับส่งของแล้ว จำเป็นจะต้องวางบิลไหม คำตอบคือ วางหรือไม่ก็แล้วแต่ธรรมเนียมที่ตกลงกัน ส่วนใหญ่กิจการขนาดใหญ่มักจะกำหนดให้มาวางบิลอีกรอบ ตามระยะเวลาที่กำหนดจากนั้นพวกเค้าถึงจ่ายชำระเงินให้ ส่วนเนื้อหาในเอกสารนี้ก็คล้ายๆ กับข้อ 2 ใบแจ้งหนี้เลย แต่บางทีถ้าวางบิลรวมสำหรับหลายๆใบแจ้งหนี้ ก็สามารถระบุรายละเอียดแต่ละรายการลงไปได้
4) ตัวอย่างใบเสร็จรับเงิน
เอกสารสุดท้ายสำหรับขั้นตอนการขาย ที่ยืนยันว่ากิจการได้รับเงินจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว เอกสารตัวนี้จะต้องตรงกับจำนวนที่แจ้งหนี้ และอาจระบุจำนวนกับวันที่ที่รับชำระตามธนาคารไว้ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสามารถปรับใช้เอกสารให้เข้ากับกระบวนการทำงานของกิจการได้ แต่ที่สำคัญเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชีนั้นจะเป็น ใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้ และใบเสร็จรับเงิน นั่นเอง เพราะมันบ่งบอกการเกิดขึ้นของรายได้ และการรับเงินจากลูกค้า
และสุดท้ายกระบวนการขาย จะวนลูฟมาเริ่มต้นใหม่เปิดใบเสนอราคาอีกครั้งได้หรือไม่ อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ คุณภาพสินค้า และประสบการณ์ที่ส่งมอบให้ลูกค้า
แต่ที่สำคัญการจัดการเอกสารให้เป็นมืออาชีพ และถูกต้องตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ อาจเป็นหนึ่งในความประสบการณ์ที่ดีที่ส่งไปถึงใจลูกค้าได้เช่นกัน
ขอบคุณตัวอย่างเอกสารสวยๆจาก Flowaccount
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit