“งบการเงินยังไม่เสร็จนะคะ ต้องรอผู้สอบบัญชีตรวจสอบก่อน” เสียงปลายสายจากสำนักงานบัญชีที่เราน่าจะได้ยินทุกปี แต่มีใครเคยสงสัยมั้ยว่า ผู้สอบบัญชีที่ว่าเนี่ยเค้าคือใคร? ทำไมสำนักงานบัญชีต้องส่งงานให้ผู้สอบบัญชีตรวจด้วย?
ถ้าใครเป็นเจ้าของบริษัท ฟังทางนี้ดีๆ เลย เพราะเราต้องรู้จักตัวละครที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีก 1 คน ที่เรียกว่า “ผู้ตรวจสอบบัญชี” คนๆ นี้สำคัญกับความน่าเชื่อถือของธุรกิจมากๆ แต่ทว่าบางทีเราแทบไม่เคยได้คุยกับเค้าเลย และไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเรามีผู้สอบบัญชีกับเค้าด้วยนะ
ผู้สอบบัญชีคือใคร ?
ผู้สอบบัญชี คือ คนที่มีใบอนุญาตและทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองงบการเงินของธุรกิจ เพื่อให้คนอ่านงบมั่นใจว่างบการเงินน่าเชื่อถือ และไม่มีอะไรที่ผิดแผกไปจากที่มาตรฐานการบัญชีเค้ากำหนดไว้
นั่นแปลว่า ผู้สอบบัญชีเอง จะตรวจสอบงบการเงินของธุรกิจเราได้ก็ต้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีความอิสระกับบริษัทด้วย ฉะนั้น เค้าจึงไม่ใช่คนคนเดียวกับผู้ทำบัญชี
เพราะผู้ทำบัญชี หมายถึง คนที่จัดทำ บันทึกบัญชี รายการค้าต่างๆ ของธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด แล้วก็จัดทำงบการเงินเท่านั้น ส่วนเรื่องความถูกต้องของงบการเงิน เราจะมั่นใจได้ก็ต่อเมื่อมีคนภายนอกที่เรียกว่า “ผู้สอบบัญชี” มาตรวจสอบนั่นไงล่ะ
ผู้สอบบัญชีจำเป็นกับธุรกิจหรือไม่?
แม้เราจะคิดว่า นี่ก็บริษัทของเรา ทำไมต้องมีคนภายนอกมาตรวจด้วย แต่อย่าลืมนะว่า กฎหมายกำหนดว่าบริษัทจะต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมายและส่งงบการเงินให้หน่วยงานราชการ อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร
ฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องมีเค้าแบบปฏิเสธไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนด
แต่ในความเป็นจริงผู้สอบบัญชีไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นไม้กันผีให้ธุรกิจเท่านั้น เพราะผู้สอบบัญชีช่วยธุรกิจได้หลายเรื่อง เช่น
- บอกเราได้ว่าธุรกิจมีการควบคุมภายในดีมั้ยอย่างไร
- นักบัญชีทำงานถูกต้องหรือไม่
- กระบวนการทำงานมีอะไรต้องปรับปรุงหรือเปล่า
รายงานของผู้สอบบัญชีคืออะไร ?
ผลการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีเป็นยังไงบ้าง เราอ่านได้จาก “รายงานผู้สอบบัญชี” ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า
“รายงานการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาต” ซึ่งหมายถึง รายงานที่ผู้สอบบัญชีได้สรุปผลการทำงาน ว่าจากที่ตรวจสอบมาทั้งหมด เราเห็นว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
รูปแบบความเห็นในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีมีด้วยกัน 4 แบบตามนี้
- ไม่มีเงื่อนไข
- มีเงื่อนไข
- ไม่ถูกต้อง
- ไม่แสดงความเห็น
ความเห็นทั้ง 4 แบบนั้นมีความหมายแตกต่างและให้น้ำหนักความเชื่อมั่นแตกต่างกัน
ในความเป็นจริงแล้วหน้ารายงานผู้สอบบัญชีนั้นมี 2-3 หน้าซึ่งยาวมากๆ แต่ว่าสำหรับข้าวของธุรกิจมือใหม่ อยากเข้าใจว่าผู้สอบออกความเห็นว่ายังไง มีวิธีการสังเกตง่ายๆ จาก“หน้าแรก”
พูดแบบนี้ทุกคนคงอยากรู้แล้วสิว่าอ่านยังไง หยิบหน้ารายงานผู้สอบบัญชีขึ้นมาแล้ว ลองมาเริ่มทำความเข้าใจแบบง่ายๆ ไปพร้อมกันตามตัวอย่างนี้เลย
1.ไม่มีเงื่อนไข
หน้ารายงานแบบคลีน ใครได้รายงานแบบนี้ถือว่าดีที่สุด เพราะผู้สอบบัญชีออกความเห็นไว้งบการเงินเนี่ยถูกต้องตามความ แบบไม่มีอะไรมากั้นไงล่ะ
วิธีสังเกต – 3 จุดสีเหลือง จะขึ้นต้นวรรคแรกว่า วรรคความเห็น – มีคำว่าถูกต้องตามควร – และวรรค 2 เกณฑ์ในการแสดงความเห็น ไม่ได้มีคำใดๆ ต่อแบบนี้ แปลว่า งบเราเนี่ยคลีนๆ สบายใจได้เลย
2.มีเงื่อนไข
หน้ารายงานที่บอกว่างบการเงินถูกต้องนะ แต่แค่บางประเด็นที่ไม่ถูกต้อง หรือผู้สอบบัญชีอาจไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบได้
วิธีสังเกต – จุดเหลืองสามจุด จะเพิ่มคำว่า “อย่างมีเงื่อนไข” ลงไป แล้วถ้าอยากรู้ว่าผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไขเรื่องอะไร ก็ไปอ่านต่อในรายละเอียดได้เลย
3.ไม่ถูกต้อง
หน้ารายงานแบบนี้แย่กว่าแบบที่ 2 หน่อยเพราะว่ามันหมายถึง งบการเงินไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี แล้วก็ระบุจุดที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ เพราะมันเหมือนจะไม่ถูกต้องอย่างแผ่กระจายไปทั่วงบเลยล่ะ ถ้างบใครเป็นแบบนี้ต้องพิจารณาตัวเองก่อนส่งงบการเงินนะ เพราะว่างบดูไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลย
วิธีสังเกต – จุดเหลืองสามจุด จะเพิ่มคำว่า “ไม่ถูกต้อง” ลงไป แล้วถ้าอยากรู้ว่าไม่ถูกต้องเพราะอะไรก็ลองไปอ่านในรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลย
4.ไม่แสดงความเห็น
หน้ารายงานแบบนี้อาจจะแย่สุดๆ ในมุมมองของผู้สอบบัญชี เพราะว่าผู้สอบบัญชีจะระบุไว้ว่าได้รับว่าจ้างให้ตรวจสอบงบ แต่ตรวจสอบไม่ได้ หาหลักฐานได้ไม่เพียงพอ จึงไม่มั่นใจว่าจะแสดงความเห็นอย่างไรดี ก็เลยออกหน้ารายงานว่า ไม่แสดงความเห็นละกัน (แต่รับตังค์นะ)
วิธีสังเกต – จุดเหลืองสามจุด จะเพิ่มคำว่า “ไม่แสดงความเห็น” ลงไป แล้วถ้าอยากรู้ว่าเพราะอะไรผู้สอบบัญชีจึงไม่แสดงความเห็น ก็สามารถไปอ่านในรายละเอียดได้เลย
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้เกี่ยวกับผู้สอบบัญชี และหน้ารายงานผู้สอบบัญชี
ถ้าเลือกได้ เราคงอยากได้หน้ารายงานแบบแรกที่คลีนๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีหลายคราวที่เราไม่รู้ว่าหน้ารายงานคืออะไร และความเห็นผู้สอบบัญชีบอกว่าอย่างไรบ้าง
ถ้า “ความเห็นของผู้สอบบัญชี” ไม่ตรงกับ “ความคาดหวัง” ของเรา แล้วเราเป็นคนสุดท้ายที่รู้เรื่อง มันคงน่าเสียดายที่สุด ที่เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook : https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit : https://www.blockdit.com/zerotoprofit