ถาม-ตอบ ลูกหนี้กรรมการคืออะไร? เอาเงินออกจากธุรกิจแบบไหนถึงจะดี

ถาม-ตอบ ลูกหนี้กรรมการคืออะไร? เอาเงินออกจากธุรกิจแบบไหนถึงจะดี

Q: ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม ว่าลูกหนี้กรรมการคืออะไร

A: ลูกหนี้กรรมการ คำนี้เจอบ่อยมาก โดยเฉพาะในงบบริษัท SMEs แต่ว่าต้องขออธิบายอย่างนี้ก่อนว่า ตอนที่เราจดทะเบียนเป็นบริษัท จะเสมือนมีนิติบุคคลแยกออกมาต่างหากจากตัวเรา

ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจ ชื่อนาย A พอจดบริษัทที่มีตัวเราเองเป็นกรรมการ บริษัท B ก็จะกลายเป็นมีบุคคล 2 คนเกิดขึ้น 1. คือตัวเราเป็นบุคคลธรรมดา A และ 2. คือบริษัท B เวลาทำบัญชีก็จะมองแยกกระเป๋ากันอย่างเด็ดขาดเลย

ทีนี้คำว่า ลูกหนี้กรรมการ คือ รายการสินทรัพย์ที่อยู่ในงบการเงินของบริษัท B ที่เสมือนกับว่าบริษัท B ให้นาย A ยืมเงินไปใช้ เลยตั้งเป็นลูกหนี้กรรมการไว้ แล้วเมื่อนาย A เอามาคืนค่อยล้างรายการลูกหนี้กรรมการตัวนี้ออกไป

Q: แล้วมันจริงใช่มั้ยที่กรรมการต้องกู้ยืมเงินจากธุรกิจ

A: คำตอบคือ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มันก็มีนะที่เจ้าของกิจการหรือกรรมการเองกู้ยืมเงินบริษัทตัวเอง เค้าก็จะมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันเป็นกิจลักษณะเลยว่ากู้ยืมไปเท่าไร จะคืนเมื่อไร จะจ่ายดอกเบี้ยเท่าไร

แต่ส่วนใหญ่ในประเทศไทย บริษัท SMEs ที่มีลูกหนี้กรรมการในงบการเงินเยอะๆ ส่วนมากไม่ได้กู้กันจริงๆ จังๆ ล่าสุดก็มีคนมาปรึกษาค่ะว่าเพิ่งมาอ่านงบการเงิน เห็นยอดลูกหนี้กรรมการเป็นล้านเลย เค้าไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินบริษัทนี่นา ทำไมบัญชีบันทึกแบบนี้

Q: แล้วถ้าไม่ได้กู้กันจริง นักบัญชีเอามาใส่ในลูกหนี้กรรมการ แบบนี้ทำได้ไหม

A: สำหรับเคสที่บอกว่าไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกันจริง แต่มียอดลูกหนี้กรรมการเกิดขึ้นหลายล้านเลย อันนี้มันมีที่มาที่ไป ก็คือว่า สาเหตุที่นักบัญชีทำแบบนี้เพราะปกติตอนทำบัญชีเราจะเปรียบเทียบกันระหว่าง Bank Statement กับเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากบริษัท

ทุกๆ รายการใน Bank Statement ที่เงินหายออกไป นักบัญชีต้องระบุให้ได้ว่าเป็นค่าอะไรจากหลักฐานที่ได้รับ แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจ ถอนเงินธุรกิจออกไปดื้อๆ ไม่ได้บอกนักบัญชีว่าเงินหายไปเพราะค่าอะไร หรือไม่ได้ให้หลักฐานใบเสร็จรับเงิน นักบัญชีก็ต้องบันทึกรายการนี้เป็นเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ หรือ ลูกหนี้กรรมการ ไว้ก่อนนั่นเอง

Q: อย่างงี้แปลว่า ลูกหนี้กรรมการ อาจเกิดจากเงินที่หายออกไปจากธุรกิจแล้วไม่มีเอกสารหรือหลักฐานค่าใช้จ่ายลูกต้องไหม

A: จากเคสนี้ปัญหามันมี 2 เรื่อง

1.ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจจริง เอาเงินออกไป ต้องมีหลักฐานสำหรับบันทึกรายจ่ายให้นักบัญชี เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับกับภาษี ใบแจ้งหนี้ และ Slip โอนไปหาซัพพลายเออร์ แบบนี้คือจบ และที่สำคัญพอมีหลักฐานรายจ่ายครบถ้วน รายการนี้ก็เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ด้วยนะ

2.ถ้าเป็นเงินที่เราถอนไปใช้ส่วนตัว ก็ต้องเป็นลูกหนี้กรรมการ ทางภาษีต้องคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าราคาตลาด เทียบง่ายๆกับธนาคาร ก็ทำสัญญากันให้เรียบร้อย

แบบที่ 2 มันอาจจะขัดใจเจ้าของธุรกิจนะว่าทำไมต้องมีเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างกัน ทั้งๆ ที่บริษัทก็เป็นของเค้าก่อตั้งมาตั้งแต่เริ่ม

Q: หนี้พวกนี้ เจ๊ากันได้ไหม ทำไมเจ้าของต้องมาเป็นหนี้บริษัททั้งๆ ที่ทุกอย่างก็เป็นของเค้าอยู่แล้ว

A: คำตอบคือ เจ๊ากันไม่ได้ เพราะตามกฎหมาย นาย A กับบริษัท B ถือเป็น 2 บุคคลแยกต่างหากออกจากกัน อย่างที่เคยอธิบายไว้ตั้งแต่ต้น ถ้าอยากเคลียร์เงินที่เบิกมาใช้ส่วนตัวก้อนนี้มีทางเดียวคือ นาย A จ่ายคืนบริษัทไป

Q: แล้วอย่างงี้มันมีทางไหนมั้ย ที่เค้าจะเอาเงินออกจากบริษัท ไปใช้ส่วนตัวได้

A: มีแน่นอน ถ้านาย A วางแผนการเงินส่วนตัวให้ดีก่อน จ่ายค่าตอบแทนตัวเองให้เหมาะสมไปเลย เช่นว่า ต้องดูก่อนว่าเราทำงานให้บริษัทเราจะต้องได้ค่าตอบแทนอะไรบ้าง

  • เงินเดือน
  • ค่าเช่าสถานที่
  • ค่าเช่ารถ

ค่าตอบแทนพวกนี้ ถ้าเรากำหนดให้เรียบร้อย ก็จ่ายจากบริษัทออกไปให้ตัวเราเองได้นะแบบสม่ำเสมอ เช่น จ่ายทุกเดือนเดือนละ 100,000 บาท แล้วส่วนตัวนาย A เองก็นำเงินได้ส่วนนี้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดาให้เรียบร้อย แค่นี้ก็จบไม่มีปัญหาลูกหนี้ที่ต้องเคลียร์กันในภายหลัง

Q: พูดมาถึงตรงนี้เหมือนจะมีเรื่องภาษีมาเกี่ยวข้องด้วย เรามีทางอื่นอีกไหมถ้าไม่อยากเสียภาษีเลย

A: ถ้าทำให้ถูกต้องการจ่ายค่าตอบแทนให้กรรมการ ก็เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีส่วนตัวของกรรมการนะ เสียภาษีประจำปีแล้วก็จบ จำนวนเงินมันอาจจะไม่เยอะเลย

แต่ถ้าเลือกถอนเงินออกไปดื้อๆ ความปวดหัวมันจะตามมาเกิดเป็นลูกหนี้กรรมการ เหมือนดินพอกหางหมูที่สุดท้ายต้องมาเคลียร์กันเหมือนเดิม เสียเวลามากกว่าเดิมไปอีก

Q: สรุปสุดท้ายนิดนึงก่อนจากกันเรื่องลูกหนี้กรรมการแนะนำเจ้าของธุรกิจให้จัดการตัวเองอย่างไร

A: การทำธุรกิจคงไม่มีใครอยากมานั่งปวดหัวเพราะการเงินเอาเงินออกจากบริษัทแบบไม่ถูกวิธี ถ้าอยากเริ่มต้นดีแบบไม่มีบัญชีลูกหนี้กรรมการมากวนใจ ต้องเริ่มจาก

1) เข้าใจก่อนว่าบัญชีส่วนตัวมันต้องแยกกับธุรกิจแบบเด็ดขาด

2) ทุกรายการที่เงินออกไปจาก Bank ต้องมีหลักฐานไปบันทึกรายจ่าย

3) วางแผนจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เหมาะสม

เพียงเท่านี้เจ้าของธุรกิจก็เอาเงินออกจากกิจการได้ โดยไม่ต้องมากังวลใจว่าเราจะเป็นลูกหนี้ธุรกิจอีกต่อไป

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ