พักหลังมานี้มิจฉาชีพก็มาในบทบาทของลูกค้าที่มาซื้อของกับเรา ยิ่งคนมากหน้าหลายตาไม่รู้ที่มาที่ไป ความไว้ใจ หรือความคาดหวังว่าลูกค้าของเราจะเป็นคนดี เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมประจำใจ คงเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก และคาดหวังแทบไม่ได้ คนเหล่านี้มักจะสรรหาวิธีที่สร้างความเสียหายต่อผู้อื่น เพื่อผลประโยชน์ตัวเองเสมอ แม้จะรู้ดีว่าสุดท้ายแล้วจุดจบของการกระทำความผิดจะเป็นเช่นไร ก็ยังทำกันแพร่หลายเหมือนราวกับว่าเป็นเรื่องสนุก และไม่เคารพกฎกติกาของสังคม
ผู้ประกอบการเอง ก็ควรเฝ้าระวังเรื่องนี้ให้ดี เพราะมีผลต่อการเงินในธุรกิจอย่างมาก หากเราปล่อยผ่าน หรือชะล่าใจไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาลามทุ่งที่แก้ได้ยากจนคิดไม่ตกก็เป็นได้ จาก1ความเสียหาย อาจจะกลายเป็น 10 100 1000 อย่างที่เราคาดไม่ถึง
วิธีสังเกตก็ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้ความละเอียดในการพิจารณาพอสมควร
1.ห้ามโพสต์สลิปเกี่ยวกับทางร้านในที่สาธารณะ
วิธีนี้เป็นวิธีที่อาจจะทำให้มิจฉาชีพ ไม่สามารถนำสลิปไปปลอมแปลงได้แต่ไม่สามารถวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามิจฉาชีพเหล่านี้อาจจะทำการซื้อของทางร้านจริงในครั้งแรก และก่อเหตุในครั้งต่อไปในการสั่งซื้อยอดอื่นๆหรือมาในบทบาทที่สั่งซื้อและเตรียมชำระเงิน เพื่อให้เรานำส่งเลขที่บัญชีธนาคารสำหรับรับโอนทิ้งไว้ ข้อมูลส่วนนี้พวกมิจฉาชีพสามารถนำไปสร้างสลิปปลอมได้อีกเช่นกัน
2. ตรวจสอบและจับผิดองค์ประกอบบนสลิปโอน
สลิปปลอมมีข้อสังเกตที่จับได้ง่ายคือความละเอียดภาพ ความคมชัดของตัวเลข ฟ้อนต์ที่ใช้ ขนาดที่ใช้ สีตัวอักษรที่แตกต่างจากภาพจริง หากพบว่าความหนา บาง การจัดวางผิดปกติ ให้สันนิษฐานไปได้เลยว่า เป็นของปลอม
3. QR CODE บนสลิปโอนเงินช่วยได้
สวรรค์ก็ยังเข้าข้างคนดีอยู่ เพราะสลิปโอนที่เป็น E-Slip ที่เราๆเห็นกันนั้น จะมี QR Code เล็กๆ อยู่บนสลิปด้วย หากเราสแกนเข้าไปจะสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของยอดเงินนี้ได้ โดยจะแสดง ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่และเวลาที่ทำการโอนจ่ายเข้ามา ถ้าเป็นของปลอม จะมีรายละเอียดที่ไม่ตรง หรืออาจจะตรวจสอบไม่ได้ ไม่ปรากฎข้อมูลที่ตรงกับยอดที่เราแจ้งไปนั่นเอง ทุกคนสามารถสแกนได้ด้วยฟังก์ชั่นกล้องถ่ายรูปบนมือถือ ที่มีโหมดสแกนหรือโหลดแอปพลิเคชัน สแกนQR Code ติดเครื่องไว้ อุ่นใจ หายห่วง
4. เปิดแจ้งเตือนจากแอปฯธนาคารที่ใช้งาน
วิธีสุดเบสิกที่ไม่ยุ่งยากคือ หากยอดโอนเข้ามาปุ๊ป ข้อความจากธนาคารก็เด้งปั๊ป แสดงยอดโอนให้เราเห็นได้ฉับไว หากตรงกับออเดอร์นั้นๆ ก็หายห่วงว่าจะเป็นสลิปปลอม หรือการโอนทิพย์ได้เลย แต่บางกรณีการแจ้งเตือนอาจจะมีปัญหา ไม่สามารถแจ้งเตือนได้ในระยะหนึ่ง ด้วยระบบของธนาคารที่อาจจะเกิดปัญหากระทันหัน เราสามารถย้อนกลับไปทำข้อ 3 คือการสแกนสลิป เพื่อเช็คความถูกต้องนี้ได้ทันที แต่โดยปกติแล้วธนาคารจะแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบล่วงหน้า หากมีการปรับปรุงระบบ หรือแจ้งในทันทีหากธนาคารเกิดปัญหาในเชิงการใช้งาน เพื่อไม่ให้พลาดทุกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธนาคาร เราควรกดติดตามเพจหรือ line official account ของธนาคารที่เราใช้งานเอาไว้ เพื่อให้ทราบเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว และจะได้เตรียมตัวรับมือนั่นเอง
5. ใช้ระบบตรวจสอบ E- Slip
วิธีนี้เหมาะกับร้านที่มีออเดอร์จำนวนเยอะมากๆอย่างร้านออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการโอนเงินเข้ามาหลากหลายรายการในแต่ละวัน ไม่สามารถเช็คข้อมูลทุกสลิปได้หมด การใช้เครื่องมือทุ่นแรงก็ช่วยได้อย่างดี ปัจจุบันมีผู้พัฒนาระบบเพื่อร้านค้า ในการจัดการด้านต่างๆ เช่นการตรวจสอบสลิปโอนเงิน การตรวจสอบยอดโอนของลูกค้า การตรวจออเดอร์ การแจ้งเตือนสถานะต่างๆให้กับลูกค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการต้องเช็คยอดเงินในบัญชีรับโอนเป็นประจำทุกวัน ว่ายอดแต่ละวันเท่าไหร่ ได้หลักฐานการโอนครบถ้วนหรือไม่ แนะนำว่า เมื่อได้รับยอดวันนี้แล้ว จัดการเช็คข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วโอนแยกไปยังบัญชีอื่นๆ เพื่อเคลียร์บัญชีหลักสำหรับรับโอนของเรา ให้สามารถจัดการและนับยอดได้ง่ายขึ้น หรือจดรายได้ประจำวันเอาไว้ บันทึกหน้าจอในแต่ละวัน พร้อมระบุวันเวลาประกอบด้วยว่า เราบันทึกหน้าจอนี้วันเวลาใด เผื่อยอดใหม่เข้ามาจะได้ทำการนับได้ว่า ยอดที่เข้ามาเท่าไหร่ ตรงหรือไม่ เป็นอีกวิธีง่ายๆที่ช่วยให้เราเห็นยอดเงินเข้าในร้านได้อย่างชัดเจน
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit