เคยเป็นมั้ยเวลาจะจ่ายเงินซื้ออะไรสักที คิดแล้วคิดอีกว่ามันถูกจริงนะ ประหยัดเงินได้เท่าไร
ถ้ายิ่งจ่ายเงินน้อยๆ เรายิ่งเชื่อสนิทใจว่าธุรกิจมีกำไรแน่นอน
แต่ช้าก่อน…บางครั้งทฤษฎีจ่ายเงินน้อย ประหยัดมาก อาจทำให้เราตกหลุมพลางแบบพี่ซีโร่ก็ได้
ก่อนจะตัดสินว่าเราตกหลุมพรางไปแล้วหรือยัง ลองมาดูสถานการณ์ตัวอย่างเรื่องสมมติที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของพี่ซีโร่กัน (สรุปแล้วจะสมมติหรือจะจริงกันแน่ งงนะเรา)
1.จ่ายเงินน้อยกว่า แต่เวลาหายไป
พี่ซีโร่เป็นคนเก่ง เลือกจ้างลูกน้องเรียนจบใหม่ๆ มาทำงานให้จะได้เงินเดือนต่ำๆ แต่ 3 เดือนผ่านไป พี่ซีโร่รู้เลยว่า เวลาเค้าเสียเวลาไปกับการสอนงานลูกน้องที่ไม่มีประสบการณ์ จนกระทั่งไม่ได้ทำงานที่เขาอยากทำเลยสักอย่าง และแน่นอน ยอดขายของเค้าไม่มีทางดีกว่าเดิมถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่
เวลาที่หายไปของพี่ซีโร่ เทียบไม่ได้เลยกับเงินค่าจ้างที่ประหยัดขึ้นเล็กน้อย
ถ้าใครกำลังเจอปัญหาแบบนี้อยู่ ก่อนจ่ายเงินลองคิดดูสักหน่อยว่าเงินที่จ่ายไป มันทำให้เราเสียเวลามากกว่าเดิมไหม
ถ้าใช่ เพื่อนๆ อาจจะต้องลองมาทบทวนใหม่อีกสักครั้ง
2.จ่ายเงินน้อยกว่า แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์
พี่ซีโร่พอจะมีความรู้เรื่องการเงินสักหน่อย และเค้าจำคำพูดที่ว่า “รักษาเงินสดไว้ดีที่สุด” จากที่คุณครูการเงินแนะนำได้
พี่ซีโร่จึงเลือกที่จะเช่าที่ดิน เช่าเครื่องจักร และเช่ารถยนต์เป็นรายเดือน เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ ไม่จ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้อสินทรัพย์
แต่ทำธุรกิจมาได้สักพัก เจ้าของที่ดินเกิดอยากขายที่ให้กับนายทุนเอาไปทำคอนโด งานนี้พี่ซีโร่แทบล้มทั้งยืน เพราะไม่ทันตั้งตัวมาก่อนว่าที่ดินที่เช่ามาหลายปีตอนนี้จะโดนบอกเลิกสัญญา
จากตัวอย่างของพี่ซีโร่ เราคงจะเรียนรู้ว่า เงินที่จ่ายน้อยๆ ในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่วิธีประหยัดตังค์ที่ดีเสมอไป
เพราะสุดท้ายไม่มีกรรมสิทธิ์ เท่ากับ มีความเสี่ยง
3.จ่ายเงินน้อยกว่า แต่คุณภาพน้อยด้วย
พี่ซีโร่สอนลูกน้องฝ่ายจัดซื้อว่า ก่อนซื้อสินค้าไปเทียบราคามาให้ดีก่อน ถ้าเจ้าไหนถูกเราจะซื้อเค้า (อย่าว่าแต่พี่ซีโร่เลย…บางครั้งเราเองซื้อของออนไลน์ก็เทียบราคาอยู่เป็นวันๆ)
แต่บางทีของถูกก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป
พี่ซีโร่เลือกซื้อแต่ของถูก เค้าจึงต้องซ่อมบ่อย เปลี่ยนบ่อย ซื้ออะไหล่บ่อยๆ สุดท้ายค่าใช้จ่ายโดยรวมแพงกว่าเดิมในระยะยาว
ในที่สุด พี่ซีโร่ต้องสอนลูกน้องเสียใหม่ว่า เลือกซื้อสินค้าเจ้าที่ “ถูก” และ “คุณภาพดีด้วย” ถึงจะเรียกได้ว่าประหยัดจริงในระยะยาว
เล่ามาจนถึงตอนนี้ เราเพียงต้องการแค่อยากให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจสักนิดว่า ทฤษฎีจ่ายเงินน้อย ประหยัดกว่า อาจใช้ไม่ได้จริงเสมอไป ถ้าเงินที่จ่ายน้อยในวันนี้ทำให้เรามีเวลาลดลง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และได้ของคุณภาพต่ำมาใช้ เราคงไม่มีกำไรในระยะยาวอย่างที่คิด
แล้วเพื่อนๆ ล่ะเคยเจอสถานการณ์จ่ายเงินน้อยแต่เสียหายเยอะแบบพี่ซีโร่กันบ้างมั้ย อย่าลืมแชร์ให้พี่ซีโร่ฟังบ้างนะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit