สินค้าคงเหลือ ขุมทรัพย์ในการสร้างรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นจุดเสี่ยงที่สร้างปัญหาให้กับกิจการ ถ้าจัดการได้ไม่ดีพอ
จุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือมีอะไรบ้าง?
1.เก็บสินค้ามากหรือน้อยเกินไป
ปริมาณในการเก็บสินค้าคงเหลือเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเจ้าของกิจการ
ถ้าเก็บสินค้าไว้มากไป ก็มีค่าใช้จ่ายที่ตามมา เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าพนักงานดูแลสินค้า
แต่ถ้าเก็บสินค้าน้อยเกินไป ก็อาจจะเสียโอกาสในการขายสินค้า ในช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันการสต๊อกสินค้ามากหรือน้อยเกินไป สิ่งที่เจ้าของกิจการทำได้ อาจจะเป็นการวิเคราะห์การหมุนเวียนของสินค้าจากข้อมูลที่มี
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปลายปี สินค้าจะหมุนเวียนเร็วมากกว่าเดือนอื่นๆ และในปีนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า นั่นก็แปลว่า อาจจะต้องสต๊อกสินค้าที่ขายดีๆ ไว้มากขึ้นก่อนจะถึงปลายปี
และวิธีเดียวที่จะรู้ได้ว่าควรสต๊อกสินค้าตัวไหน เท่าไรดี นอกเสียจากการคาดเดาเอาเอง ข้อมูลทางบัญชีที่บันทึกไว้ เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยวิเคราะห์ปริมาณสินค้าเหล่านี้
2.ไม่เคยนับสินค้าคงเหลือเลย
สินค้าที่มีในสต๊อก ถ้าไม่เคยนับสินค้าเลย คงไม่มีทางรู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับสินค้าบ้าง หรือการจัดการมีข้อบกพร่องตรงไหน
เช่น ถ้าพนักงานหยิบสินค้าให้ลูกค้าเกินไป หรือสินค้าสูญหายเพราะถูกขโมย ถ้าไม่เคยนับสต๊อกสินค้า ก็ไม่มีทางรู้ว่าสินค้าตัวไหนขาดไปบ้าง ขาดเมื่อไร และเพราะอะไร?
วิธีการนับสินค้าคงเหลือเป็นประจำ เป็นวิธีที่ดี ที่จะช่วยตรวจสอบว่า สินค้าที่มีอยู่นั้นมีปริมาณเท่าไร สภาพเป็นอย่างไร และมีตัวไหนหายไปบ้างหรือเปล่า ส่วนเรื่องจะนับถี่ขนาดไหน เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจยึดตามลำดับความสำคัญ
3.สินค้าจริงไม่ตรงกับรายงานสินค้าคงเหลือ
พอนับสต๊อกแล้ว เราจะรู้จำนวนสินค้าที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาจะจบ เพราะอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ยังมีอยู่ คือ สินค้าที่มีอยู่จริง ไม่เท่ากับรายงานสินค้าคงเหลือ
รายงานสินค้าคงเหลือที่ว่า เป็นรายงานหนึ่งทางบัญชีที่เกิดจากการบันทึกเข้า-ออกของสินค้าในแต่ละวัน โดยปกติแล้วควรจะเท่ากับปริมาณสินค้าที่มีอยู่จริง
แต่เมื่อสินค้าในสต๊อกจริงไม่เท่ากับรายงานสินค้าคงเหลือแล้ว มันบ่งบอกอะไรเราได้บ้าง?
- มีการตกแต่งบัญชีหรือไม่ งบการเงินเชื่อถือได้หรือเปล่า
- จัดการสินค้าคงเหลือในคลังได้ดีแค่ไหน
- จะมีปัญหาภาษีตามมาหรือไม่ เช่น ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มเรื่องการแสดงรายงานสินค้าคงเหลือไม่ตรงตามความเป็นจริง และสินค้าที่ขาดถือเป็นการขายสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม
4.สินค้าเสีย สูญหาย ไม่เคยรู้ตัว
สินค้าเสียหาย เกิดขึ้นได้หลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือเสียเพราะสินค้าหมดอายุ
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องสินค้าสูญหาย ที่มักเกิดกับสินค้ามีมูลค่าสูงๆ และไม่ได้รักษาความปลอดภัยได้ดีพอ
ทั้งของเสีย และสูญหาย ในทางบัญชีถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการทั้งหมด เพราะสินค้าที่เคยมีคงไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราในอนาคตได้อีกต่อไป เคยซื้อมาเท่าไร แทนที่จะเป็นสินทรัพย์กลับกลายเป็นค่าใช้จ่าย เพราะไม่เคยตรวจสอบและควบคุมให้ดีพอ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว
อยากจัดการสินค้าคงเหลือให้ดีขั้น ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติม
www.zerotoprofit.co/how-to-manage-stock
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit