อ่านงบแสดงฐานะการเงิน ใน 5 นาที

อ่านงบแสดงฐานะการเงิน ใน 5 นาที

คนทำธุรกิจ ถ้าอยากรู้ว่ากิจการรวยขึ้นหรือไม่ พลาดไม่ได้ที่จะต้องอ่านงบแสดงฐานะการเงิน

งบนี้อาจจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตาสักเท่าไรนัก สำหรับเจ้าของกิจการ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะให้ความสนใจไปที่ผลการดำเนินงานใน งบกำไรขาดทุนเสียมากกว่า

แต่ถ้าวันนี้เราอยากรู้ว่ากิจการร่ำรวยมั้ย แค่การอ่านงบกำไรขาดทุนได้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะความจนหรือรวยของกิจการ นั้นต้องอ่านจากงบแสดงฐานะการเงิน

ในวันนี้ เราจึงชวนทุกท่านมาอ่านงบแสดงฐานะการเงินแบบเข้าใจง่ายๆ ภายใน 5 นาที จะได้รู้กันไปซะทีว่าตอนนี้กิจการเราจนหรือรวยกันแน่

ก่อนอื่นเลย เราทำความเข้าใจกันก่อนว่า งบแสดงฐานะการเงินคืออะไร ?

งบแสดงฐานะการเงิน
  • งบแสดงฐานะการเงิน คือ งบที่บอกว่า ณ วันนี้กิจการมีสถานะการเงินเป็นอย่างไรบ้าง หรือจะพูดง่าย ๆ ว่างบนี้เป็นงบที่บอกความรวยหรือจนของกิจการก็ไม่ผิด
  • งบแสดงฐานะการเงินนี้จะบอกสถานะการเงิน ณ วันใดวันนึง ซึ่งเวลาอ่านงบ ต้องดูดีๆ ว่าเรากำลังดูสถานะการเงิน ณ วันไหน เช่น ณ วันที่ 31 ธค. 63 อาจจะรวยหรือจนไม่เท่ากับ ณ วันที่ 31 ธค. 62 อย่างแน่นอน
สมการของงบแสดงฐานะการเงิน

สมการของงบแสดงฐานะการเงิน

  • งบนี้เกิดจากสมการทางบัญชีที่มีเพียงสามตัวแปร ที่ว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ เสมอ
  • จึงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไม เราเคยรู้จักงบนี้ ในชื่อว่า “งบดุล” ก็เพราะว่าฝั่งซ้ายต้องเท่ากับฝั่งขวาเสมอนั่นไงล่ะ

ถัดมาทุกคนคงสงสัยแล้วว่า องค์ประกอบทั้ง 3 ตัวของสมการเนี่ย มันคืออะไร…..เดี๋ยวเราจะอธิบายให้ฟัง

สินทรัพย์

1.สินทรัพย์

สินทรัพย์ ก็คือ ทรัพยากรที่เป็นของกิจการ ที่ให้ประโยชน์กับกิจการในอนาคต ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลธรรมดาอย่างเราๆ มีสินทรัพย์เป็นรถยนต์ใช้ขับไปทำงาน กิจการก็เช่นกัน ก็สามารถมีสินทรัพย์ของตัวเอง เพื่อใช้หารายได้เข้ามาได้

สินทรัพย์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ สินทรัพย์หมุนเวียน และไม่หมุนเวียน

1.สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วภายใน 1 ปี เช่น

  • เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด นึกภาพง่ายๆ ก็คือ พวกเงินสดและเงินฝากธนาคารที่ไม่มีภาระผูกพันนั่นเอง
  • ลูกหนี้การค้า ส่วนนี้คือ พวกลูกหนี้ที่เกิดจากการขายสินค้า และยังไม่ได้รับเงิน 
  • สินค้าคงเหลือ ชื่อก็ตรงตัวอยู่แล้ว มันคือ สินค้าที่เหลืออยู่ ณ วันสิ้นงวด เช่น พวกวัตถุดิบ งานระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป
  • สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น คืออะไรก็ตามที่ไม่เข้าพวกสินทรัพย์ด้านบน ก็จะมารวมกันอยู่ตรงนี้

2.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย ให้ประโยชน์หรือเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดได้ในเวลาเกินกว่า 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น

  • ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์พวกนี้เป็นสินทรัพย์ที่ใช้สร้างรายได้เข้ามาในกิจการ ระยะเวลาการใช้งานยาวกว่า 1 ปี เช่น โรงงาน เครื่องจักร ข้อสังเกตของสินทรัพย์พวกนี้คือจะมีค่าเสื่อมราคาเกิดขึ้นทุกๆปี เพราะการเสื่อมสภาพของสินทรัพย์ไปเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ถือเป็นสินทรัพย์ระยะยาวที่จับต้องไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ซอฟท์แวร์ต่างๆ ลิขสิทธิ์ต่างๆ เป็นต้น ในแต่ละปีจึงมีการคิดค่าตัดจำหน่าย (คล้ายๆ กับค่าเสื่อมราคาแต่เรียกชื่อต่างกัน) เพื่อลดมูลค่าลงให้ใกล้เคียงประโยชน์ใช้สอยจริง
หนี้สิน

2.หนี้สิน

หนี้สิน คือ ภาระผูกพันที่เจ้าของธุรกิจจะต้องจ่ายคืนให้กับคนภายนอก เหมือนๆ กับหนี้ที่เราติดค้างเพื่อนๆ อยู่แล้วยังไม่จ่ายนั่นแหละ แต่อันนี้เป็นหนี้สินของกิจการ

หนี้สินก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน

1.หนี้สินหมุนเวียน คือ ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายคืนแก่คนภายนอกในระยะเวลา 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น

  • เจ้าหนี้การค้า ส่วนใหญ่จะเกิดจากเจ้าหนี้การซื้อสินค้าและบริการ ที่เราค้างเค้าอยู่ยังไม่จ่ายออกไป ณ วันสิ้นงวด
  • เงินกู้ยืมระยะสั้น ง่ายๆ ตรงตามความหมายเลยค่ะ มันคือเงินที่ไปกู้คนอื่นมา แล้วต้องจ่ายคืนภายใน 1 ปีนั่นเอง ภาระของหนี้ตัวนี้ ก็คือ ดอกเบี้ยจ่าย หรือต้นทุนทางการเงินที่ไปโผล่ในงบกำไรขาดทุน
  • หนี้สินหมุนเวียนอื่น คือ หนี้สินหมุนเวียนอื่นๆ ที่เหลือจากการจัดกลุ่มด้านบนนั่นเอง

2.หนี้สินไม่หมุนเวียน เป็นภาระผูกพันที่กิจการต้องจ่ายชำระภายในระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี เช่น พวกเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะจ่ายหลังจาก 1 ปีข้างหน้า เป็นต้น

ส่วนของผู้ถือหุ้น

3. ส่วนของผู้ถือหุ้น

ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือส่วนของเจ้าของตัวนี้ ก็คือ ส่วนที่เหลือจากสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน (นิยามตรงตามสมการเป๊ะ) เสมือนเป็นสินทรัพย์สุทธิที่เหลือให้เจ้าของกิจการจริงๆ หลังจากการจ่ายคืนหนี้สินแล้ว

องค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก ของส่วนของเจ้าของ ก็คือ

1.ทุนเรือนหุ้น คือ เงินที่หุ้นส่วนทุกคนลงทุนกันเพื่อทำธุรกิจนี้ ตัวเลขในนี้ตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความให้ยาก

2.กำไรหรือขาดทุนสะสม พอเป็นคำว่าหรือ แปลว่าอาจเกิดได้อย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม

  • ถ้าโชคดีบริหารเก่งกิจการมีกำไรสะสม คือ กำไรที่หาได้ในแต่ละปีสะสมทบเข้าไปเรื่อยๆ ยอดนี้ก็จะโตวันโตคืน
  • แต่ถ้าโชคร้ายบริหารไม่ดี ส่วนตรงนี้จะกลายเป็นขาดทุนสะสมแทน เครื่องหมายก็จะกลายเป็นติดลบในงบนี้

เข้าใจความหมายของทั้ง 3 ตัวในสมการแล้ว เราลองเลื่อนมาดูตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินจริงกันบ้าง ว่าหน้าตาเป็นยังไง

  • ถ้าลองกวาดสายตาดีๆ จะเห็นว่างบนี้แบ่งเป็นสามส่วนหลักๆ  คือ สินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ
  • ยอดรวมของสินทรัพย์ จะเท่ากับผลรวมหนี้สินและส่วนของเจ้าของเสมอ สังเกตุง่ายๆ จากลูกศรสีแดง ตามสมการที่ว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ (แหม…สมการนี้ย้ำเหลือเกิน)
  • แต่ละส่วนก็จะมีองค์ประกอบย่อยๆ แบ่งออกไป ตามที่เราได้อธิบายกัน ซึ่งแต่ละธุรกิจก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวและส่วนประกอบแตกต่างกัน

คำถามถัดมา ถ้าเห็นงบแสดงฐานะการเงินแบบนี้แล้วแปลว่าอะไร?

  • จากตัวอย่างนี้ แปลความง่ายๆ ได้ว่า ณ วันที่ 31 ธค x3 กิจการนี้มีสินทรัพย์ 336,300 บาท และหนี้สิน 65,340 บาท ส่วนของสินทรัพย์ที่มากกว่าหนี้สินนี้แสดงออกในรูปแบบของสินทรัพย์สุทธิ หรือส่วนของเจ้าของเท่ากับ 270,960 บาท  
  • สินทรัพย์ที่มากกว่าหนี้สินเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกๆ กิจการก็คาดหวังว่าจะมีสินทรัพย์มากๆ หนี้สินน้อยๆ เพื่อให้เหลือส่วนของเจ้าของเยอะๆ
  • แต่ถ้าอยากเห็นว่าเรารวยขึ้นกว่าเมื่อวานไหม แนะนำให้ลองเอางบไปเปรียบเทียบกับปีก่อนดู เช่น เทียบกับวันที่ 31 ธค x2 เพื่อดูว่าส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้นบ้างมั้ย ถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็เป็นเรื่องที่ดี

สรุปแล้ว เรารู้อะไรบ้างจากการอ่านแสดงฐานะการเงินนี้

สั้นๆ ง่ายๆ เลย สิ่งที่เรารู้จากการอ่านงบแสดงฐานะการเงินเป็น ก็คือ เราจะรู้ว่า

  • วันนี้กิจการมีสินทรัพย์อะไรบ้าง เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียนเท่าใด
  • วันนี้กิจการมีหนี้สินอะไรบ้าง เป็นหนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนเท่าใด
  • สินทรัพย์ที่มี มีมากพอที่จะจ่ายคืนหนี้สินหรือไม่
  • กิจการเหลืออะไรเป็นส่วนของเจ้าของบ้าง
  • วันนี้กิจการรวยขึ้นจากเดิมหรือไม่ และทำอย่างไรจึงจะรวยขึ้น

เห็นมั้ยว่าแค่ลองอ่านงบแสดงฐานะการเงินเบื้องต้น ทุกคนก็พอจะเข้าใจสถานะการเงินของกิจการได้ดีขึ้น

และที่สำคัญอย่าลืม หาวิธีสร้างสินทรัพย์ให้งอกเงย ลดหนี้สินลง และสุดท้ายจะมีส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้นสำหรับกิจการนั่นเอง

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า