ใครที่ลงทุนให้ธุรกิจ อาจตั้งเป้าหมายว่า “ทำงานสักพักก็สบาย แก่ไปรอกินเงินปันผลอย่างเดียวก็น่าจะแฮปปี้ ชีวิตเจ้าของธุรกิจมันดีแบบนี้นี่เอง”
ความคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เมื่อจ่ายปันผล ภาษีต้องเสียเท่าไร และมีเรื่องอะไรต้องรู้บ้าง
บทความนี้ Zero to Profit แนะนำให้เจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะที่มีกำไรสะสมสูงๆ ในงบการเงิน อ่านและทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนนะคะ
เงินปันผล คืออะไร?
เงินปันผล หมายถึง ส่วนของกำไรของบริษัทที่แจกจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นวิธีมอบผลตอบแทนจากความสำเร็จในธุรกิจให้กับผู้ถือหุ้น หรือว่านักลงทุน เงินปันผลสามารถจ่ายเป็นเงินสด หรือเป็นหุ้นก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว บริษัท SMEs ในประเทศไทยนิยมจ่ายเป็นเงินสดมากกว่าค่ะ
จ่ายเงินปันผล เจ้าของธุรกิจต้องเช็คอะไรบ้าง?
1.จ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมเสมอ
การจ่ายเงินปันผล มีเงื่อนไขว่าต้องจ่ายจากกำไรสะสมเท่านั้น
กำไรสะสมคืออะไร?
กำไรสะสม คือ ส่วนของกำไรหรือขาดทุนสุทธิที่สะสมมาจากการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี ซึ่งกำไรสะสมที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างต้นปีไปจนถึงปลายปีนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่ากับกำไรหรือขาดทุนสุทธิในงบกำไรขาดทุนค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท A ปี x1 ขาดทุน -200,000 บาท ปี x2 กำไร 100,000 บาท แปลว่า ณ ปลายปี x2 บริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ -100,000 บาท
บริษัท B ปี x1 มีกำไร 150,000 บาท ปี x2 มีขาดทุน -50,000 บาท แปลว่า ณ ปลายปี x2 บริษัทมีกำไรสะสมอยู่ที่ 100,000 บาท
จากตัวอย่างนี้ บริษัทที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามกฎหมายก็คือ บริษัท B ที่มีกำไรสะสมเหลืออยู่ 100,000 บาทนั่นเอง ส่วนบริษัท A ต้องรอต่อไป ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ค่ะ
2.จ่ายปันผล ต้องทำตามกฎหมาย
สำหรับบริษัทจำกัด การจ่ายเงินปันผล ไม่สามารถทำได้โดยพลการ เพราะจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้
ขั้นตอนการจ่ายเงินปันผล มีดังนี้
- ประกาศหนังสือพิมพ์ ทั้งหมด 2 ครั้ง คือ ประกาศเชิญประชุมและประกาศจ่ายเงินปันผล
- มีมติที่ประชุม อนุมัติการจ่ายเงินปันผล
- กันเงินสำรองตามกฎหมาย โดยกำหนดไว้ว่า บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุน สำรองอย่างน้อย 1/20 ของจำนวนผลกำไร จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึง 1/10 จำนวนทุน
- จ่ายเงินปันผล ภายใน 1 เดือนหลังที่ประชุมมีมติอนุมัติ
ตัวอย่างการคำนวณเงินสำรองตามกฎหมาย
ถ้าบริษัทมีกำไรสะสมอยู่ 150,000 บาท และทุนจดทะเบียนเท่ากับ 1,000,000 บาท ถ้าอยากจ่ายเงินปันผล จะต้องสำรองเงินไว้ 150,000*1/20 = 7,500 บาท ก่อนจ่ายปันผล และสำรองทุกครั้งจนกว่าจะครบ 1,000,000*1/10 = 100,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด
จ่ายปันผล หัก ณ ที่จ่ายยังไง ภาษีเสียเท่าไร?
รู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการจ่ายปันผลมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องที่ตื่นเต้นสุดๆ เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลกันค่ะ นั่นก็คือ เรื่องภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผล
1. จ่ายปันผล ภาษีเสียเท่าไร
ต้องบอกอย่างงี้ว่า เราต้องมองแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน ก็คือ
- บริษัท = ผู้จ่ายเงินปันผล
- ผู้ถือหุ้น = ผู้รับเงินปันผล ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือว่านิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัดก็ได้
การเสียภาษีเงินปันผลจึงสรุปเป็นตารางได้ตามนี้
บริษัทผู้จ่ายเงินปันผล | ผู้รับเงินปันผล |
ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเรียบร้อยปีต่อปีแล้ว กำไรสะสมที่เราเห็นในงบการเงินนั้นจึงเป็นกำไรหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลเรียบร้อยแล้วค่ะ ดังนั้น ผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีแต่อย่างใด | บุคคลธรรมดา – เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% นิติบุคคล – เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ยกเว้นภาษี ในกรณี (1) ผู้ได้รับเงินเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล (2) ผู้ได้รับเงินได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้ได้รับเงิน |
2. จ่ายปันผล หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร
เมื่อจ่ายเงินปันผล ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย แล้วต้องนำส่งภาษีให้กับผู้ถือหุ้นภายใน 7 วันของเดือนถัดไป
ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท A จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา ทั้งหมด 3 คน จำนวนเงินรวม 1,300,000 บาท บริษัท A ต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% รวมทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท และกรอกแบบ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 2 ตามตัวอย่างนี้ เพื่อยื่นแก่กรมสรรพากรภายใน 7 วันของเดือนถัดไป
และผู้รับเงินปันผลแต่ละคน จะได้รับหลักฐานหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย 10% ตามตัวอย่างนี้
3. บุคคลธรรมดาขอคืนภาษี หัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลได้หรือไม่
กรณีที่ผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา มีทางเลือก 2 ทางสำหรับการยื่นภาษีส่วนบุคคลค่ะ
- ไม่ขอคืน: เลือกใช้สิทธิ Final Tax คือ เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% แล้วจบ ไม่นำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีอีก
- ขอคืน: เลือกนำเงินได้จากปันผลและภาษีที่ถูกหักไว้ มาคำนวณรวมในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วยื่นขอคืนภาษี ในกรณีนี้ต้องเอาเงินปันผลจากทุกที่มายื่น และนิยมทำก็ต่อเมื่อฐานภาษีบุคคลธรรมดาเราไม่สูงกว่า 10% จึงจะได้ประโยชน์จากการขอคืนภาษี
เห็นมั้ยคะว่า การทำธุรกิจให้ได้กำไรเยอะๆ สุดท้ายไม่ได้จบลงที่ได้เงินปันผลเป็นกอบเป็นกำเสมอไป เพราะในส่วนผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการเองเมื่อจ่ายปันผล ภาษีเงินได้ที่พวกเราจะต้องเสียอย่างน้อยอยู่ที่ 10% (แบบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาหักกลบ) ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็เสียภาษีนิติบุคคลจากกำไรสุทธิสูงสุดอยู่ที่ 20% แล้ว
ทำไมกำไรสะสมจึงเป็นปัญหา ตอนเลิกกิจการ
ถัดมาเรามาดูปัญหาน่าปวดหัวจากการมีกำไรสะสมเยอะๆ ในกรณีที่ต้องการจดเลิกธุรกิจกันค่ะ
ในกรณีที่เรามีกำไรสะสมเยอะๆ และไม่เคยจ่ายเงินปันผลออกไปเลย เพราะกลัวจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%
แต่ในเมื่องานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ธุรกิจเดินทางมาถึงสิ้นสุดทางเลื่อนแล้ว การจดทะเบียนเลิกนั้นมีเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจจะต้องชำระบัญชีให้เรียบร้อย และหนึ่งในขั้นตอนนี้ก็คือ การเคลียร์กำไรสะสมและจ่ายเงินปันผลออกจากบริษัทไปค่ะ ทำให้สุดท้ายเราต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10% อยู่ดี
และปัญหานี้จะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ถ้าเงินสดในธุรกิจมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายค่ะ
สรุป วิธีแก้ไขคืออะไร?
ก่อนจะไปถึงทางตัน หาทางนำเงินออกจากธุรกิจไม่ได้ และต้องจ่ายปันผล ภาษีก้อนโตแบบนี้ Zero to Profit แนะนำว่า เจ้าของธุรกิจควรวางแผนจ่ายค่าตอบแทนกับตัวเองในแต่ละปีไว้ล่วงหน้าอย่างเหมาะสม เช่น เงินเดือน (หักค่าใช้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุด 100,000) ค่าเช่า (หักค่าใช้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดาเหมา 30%) เพื่อที่งบการเงินจะได้แสดงกำไรสุทธิและกำไรสะสมตามความเป็นจริง ไม่สูงจนเกินไป
และสุดท้ายเจ้าของธุรกิจก็ได้อะไรกลับมาในระหว่างทางที่ทำงานอย่างเหนื่อยยาก มากกว่าการนั่งรอรับเงินปันผล พร้อมภาระภาษีก้อนโตในอนาคตค่ะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit