ใครที่ทำธุรกิจแบบมีสต๊อกสินค้า ถ้าไม่รู้ว่าสินค้าในร้านของเราหมุนเวียนเร็วแค่ไหน นี่อาจจะเป็นปัญหาเบอร์ต้นๆ ของธุรกิจก็เป็นได้ค่ะ เพราะสินค้าที่สต๊อกไว้ถ้าหมุนเวียนไม่เร็วพออาจทำให้เงินที่ลงทุนในธุรกิจหายวับไปกับตา ในวันนี้ถ้าใครยังไม่รู้ว่าการหมุนเวียนของสินค้ามันคืออะไร เช็กแบบไหน ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้สินค้าหมุนเวียนเร็วขึ้น ในบทความนี้ Zero to Profit มีคำตอบให้ทุกคนค่ะ
การหมุนเวียนของสินค้าคืออะไร?
การหมุนเวียนของสินค้า หรือ Inventory Turnover คือ อัตราส่วนที่วัดว่าสินค้าของเราที่ซื้อเข้ามาหรือว่าที่ผลิตไว้เนี่ยมันหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นต้นทุนขาย (ขายออก) ได้เร็วขนาดไหน โดยคำนวณจากสูตรนี้
ต้นทุนขาย (COGS) หมายถึง ต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือหาสินค้ามาขาย เช็คง่ายๆ จากงบกำไรขาดทุน
สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินค้าที่ยังค้างอยู่ในคลัง ยังไม่ได้ขายออกไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบวัตถุดิบ งานระหว่างทำ หรือสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งเอาตัวเลขมาจากงบแสดงฐานะการเงินได้เลย
เพื่อความแม่นยำ เราอาจใช้สินค้าคงคลังเฉลี่ย แทนสินค้าปลายงวด ซึ่งคำนวณจาก สินค้าคงคลังต้นงวด + สินค้าคงคลังปลายงวด แล้วหารด้วยสอง
ทำไมการหมุนเวียนของสินค้าจึงสำคัญกับธุรกิจ?
ถ้าอยากรู้ว่าทำไมการหมุนเวียนสินค้านั้นสำคัญนัก ลองมาดูตัวอย่าง 2 บริษัทนี้กัน
บริษัท A และ B ขายของเหมือนกัน แต่อยู่ในสถานการณ์ต่างกันเพราะอัตราหมุนเวียนสินค้า A คิดได้ 4 เท่า แต่ของ B คิดได้แค่ 0.3 เท่า แปลว่าบริษัท A ขายของไปถึงไหนต่อไหน ได้ตังค์เรียบร้อยไปหลายรอบแล้ว แต่ B ยังขายของไม่ออกเลย
การหมุนของสินค้าสำคัญมากๆ สำหรับธุรกิจทั้งซื้อมาขายไป และธุรกิจผลิต เพราะมันช่วยบอกได้ว่าเจ้าของธุรกิจบริหารจัดกาธุรกิจได้ดีขนาดไหน ดูได้จาก 3 เรื่องนี้
ช่วยสร้างกระแสเงินสด:
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลังสูงบอกเรากลายๆ ว่า บริษัทกำลังแปลงสินค้าเป็นการขายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกระแสเงินสดกับเข้ามาในธุรกิจเร็วขึ้น และนี่ก็เป็นหัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ SMEs เลยค่ะ
ช่วยบอกว่าสินค้าไหนมีปัญหา:
การเช็กการหมุนเวียนของสินค้าอยู่เสมอ ช่วยชี้เป้าสินค้ามีปัญหา เคลื่อนไหวช้า ล้าสมัยได้ และแก้ปัญหาได้ทันเวลา เหมือนกับการตัดไฟแต่ต้นล้ม เช่น การจัดโปรโมชั่น ส่วนลด เพื่อยับยั้งการขาดทุนได้ไวขึ้น ไม่ใช่รอให้สินค้าเน่าเสีย แล้วจึงจัดการ
ช่วยลดค่าใช้จ่ายคลังสินค้า:
ยิ่งเรารักษาระดับสินค้าได้เหมาะสมเท่าไร ความเสี่ยงในการจ่ายค่าใช้จ่ายคงคลังที่มากเกินไปก็หมดลงด้วย เช่น ค่าจัดเก็บ ค่าประกันภัย และค่าเสื่อมราคา ฉะนั้น การวิเคราะห์การหมุนเวียนสินค้า จะช่วยให้ตัดสินใจซื้อของเข้าสต๊อกได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น
ช่วยให้ตอบสนองต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น:
ระดับการหมุนเวียนสินค้าที่เหมาะสม ช่วยให้เรามั่นใจว่าของจะมีเพียงพอ สต๊อกไม่ขาดมือ เมื่อลูกค้าสั่งมาก็มีของขายเสมอ แบบนี้ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเสียโอกาสการขายได้ค่ะ
อยากให้สินค้าหมุนเวียนเร็วขึ้นจัดการยังไง?
เคล็ดลับทำให้สินค้าหมุนเวียนเร็วขึ้นต้องวางแผนแบบนี้
1. วิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง
การวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าในอดีตเพื่อดูแนวโน้ม ช่วยให้เราดูเทรนการหมุนเวียนสินค้าได้ว่าสินค้าชนิดไหนมีการหมุนเวียนเร็ว และชนิดไหนมีการหมุนเวียนช้า เพราะนี่ส่งผลถึงแผนการจัดซื้อ และการผลิตที่ต้องทำให้สอดคล้องกันค่ะ
2. คาดการณ์ความต้องการอย่างแม่นยำ
การคาดการณ์ความต้องการที่แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ข้อมูลการขายในอดีต แนวโน้มของตลาด และคำติชมของลูกค้าเพื่อคาดการณ์ความต้องการในอนาคต วิธีนี้จะช่วยให้เราปรับระดับสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกัน ลดความเสี่ยงของสินค้าล้นสต็อกหรือขาดสต็อก
3. ใช้ระบบสินค้าแบบทันเวลา (JIT)
ระบบสินค้าคงคลังแบบทันเวลา (Just-in-Time: JIT) จะเน้นไปที่สั่งซื้อและได้รับสินค้าจากซัพพลายเออร์อย่างทันท่วงทีสำหรับการผลิตหรือการขายตามที่ลูกค้าต้องการ
ด้วยเหตุนี้มันจะช่วยให้เราลดปริมาณสินค้าในสต็อกได้ ตั้งแต่ค่าจัดเก็บ ค่าดูแลรักษา หรือลดโอกาสของชำรุด เสียหาย
แต่การบ้านที่น่าคิดที่สุดก็คือ เราจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์มากๆ จึงจะเชื่อมั่นได้ว่าเราจะได้รับสินค้าแบบทันเวลาพอดีเป๊ะ ไม่ใช่กลายเป็นสินค้าขาดสต็อกในเวลาที่ต้องการ
4. กำหนดจุดสั่งซื้อที่เหมาะสม
การกำหนดจุดสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point) เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้เรารักษาปริมาณสินค้าไว้ในระดับที่เหมาะสม บางธุรกิจอาจต้องสั่งซื้อล่วงหน้านานมาก เพราะต้องรอสินค้านำเข้า ดังนั้น จุดสั่งซื้อก็จะเกิดขึ้นเร็วกว่าสำหรับธุรกิจอื่น นอกจากนี้ต้องดูในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้งด้วยว่าจะประหยัดได้มากน้อยเพียงใด
5. ตรวจนับสินค้าสม่ำเสมอ
เราไม่สามารถจัดการสต็อกสินค้าให้หมุนเร็วได้ ถ้าไม่มั่นใจว่าสินค้าที่มีในรายงานเท่ากับความเป็นจริงหรือเปล่า ดังนั้น การตรวจสอบสินค้าอย่างสม่ำเสมอว่ามีปริมาณสินค้าที่ถูกต้อง ตรงกันกับความเป็นจริง ก่อนที่จะเอาข้อมูลไปวิเคราะห์การหมุนเวียนจึงเป็นเรื่องต้องทำเป็นประจำ
บางธุรกิจเช็คสต็อกสินค้าทุกวันเป็นประจำ นี่ทำให้พวกเค้าได้เปรียบในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล และสามารถจัดการกับปัญหาสต็อกค้างได้ไวกว่าธุรกิจที่ไม่เช็กสต็อกเลย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการหมุนเวียนของสินค้า
1. อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังที่ดีคืออะไร?
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังที่ดีจะแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม โดยทั่วไป อัตราส่วนการหมุนเวียนที่สูงขึ้นจะดีกว่าเนื่องจากแสดงถึงการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเปรียบเทียบอัตราส่วนกับมาตรฐานอุตสาหกรรม และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น ลักษณะของธุรกิจและฤดูกาล
2. ถ้าไม่มีต้นทุนสินค้าจะคำนวณการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังได้ไหม?
ถ้าหาต้นทุนสินค้าไม่ได้ ให้หยิบเอาตัวเลขใกล้ตัวอย่างยอดขายสุทธิมาคำนวณการหมุนเวียนของสินค้าแทนแบบนี้
การหมุนเวียนของสินค้า = ยอดขายสุทธิ / สินค้าคงคลังเฉลี่ย
3. ถ้าการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังต่ำเกินไป ต้องทำไงดี?
ถ้าการหมุนเวียนของสินค้าต่ำเกินไป แสดงว่าสินค้านั้นขายไม่ได้เร็วเท่าที่ควร เราควรใช้กลยุทธ์ในการขายเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมการขายสินค้าที่เคลื่อนไหวช้า การเสนอส่วนลด หรือปรับราคา และอย่าลืมเก็บสินค้าในสต็อกไว้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
4. เราควรคำนวณการหมุนเวียนสินค้าบ่อยแค่ไหน?
Zero to Profit อยากแนะนำว่าให้เพื่อนๆ ทำเป็นประจำ เช่น รายเดือนหรือรายไตรมาส เพื่อเช็กแนวโน้ม และจะได้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น
สรุปแล้วจัดการสินค้ายังไงให้หมุนเร็ว
เริ่มต้นจากทำความเข้าใจวิธีการวิเคราะห์การหมุนเวียนของสินค้าแต่ละชนิดเสียก่อน จากนั้นหาวิธีการมาช่วยจัดการสินค้าในแบบฉบับที่เหมาะสมกับธุรกิจเราค่ะ ไม่ว่าจะเป็นระบบ JIT การกำหนดจุดสั่งซื้อ หรือการตรวจนับสต็อกเป็นประจำ
เพราะธุรกิจที่มีสต๊อกเหมือนมีดาบสองคม นอกจากจะเป็นตัวสร้างเงินสดให้กับกิจการแล้ว ยังเป็นแหล่งเงินจมชั้นดี ดังนั้น การจัดการสต๊อกสินค้าคงเหลือที่ดี มีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นอีก 1 ทางรอด ที่ช่วยดึงกระแสเงินสดกลับเข้ามาในธุรกิจได้เร็วขึ้นค่ะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit