สรุปวิธีจัดการบัญชีธนาคารเบื้องต้น สำหรับคนเริ่มธุรกิจ

สรุปวิธีจัดการบัญชีธนาคารเบื้องต้น สำหรับคนเริ่มธุรกิจ

“พี่โดนสรรพากรเรียก เพราะรับเงินร้านค้าแบบคนละครึ่ง ปีนี้พี่จะเริ่มต้นใหม่ พอจะช่วยแนะนำพี่ได้มั้ย พี่ไม่อยากโดนสรรพากรเรียกอีกแล้ว?”

คำถามยอดฮิตที่เจ้าของธุรกิจร้านค้าพบเจอ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากถ้าเราไม่วางแผน แต่ถ้าจะเริ่มต้นวางแผนภาษีแบบแอดวานซ์ก็อาจจะยากไปหน่อยสำหรับพ่อค้าแม่ขายอย่างเรา

เอางี้…ถ้าเรามาเริ่มต้นแค่จัดการบัญชีธนาคารของร้านค้าให้มันถูกต้อง เห็นข้อมูลตามจริง สรรพากรมาปุ๊บเราชี้แจงได้ปั๊บกันก่อนแบบพื้นฐานดีกว่ามั้ย

ในวันนี้ Zero to Profit ลองสรุปมาให้ว่าทำตาม 5 ขั้นตอนนี้ จัดการบัญชีธนาคารแบบไม่งงแน่นอน และถ้าใครเป็นเจ้าของร้านค้าแบบเจ้าของคนเดียว ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทใหญ่โต บอกได้เลยว่าเคล็ดลับนี้เหมาะเหม็งสุดๆ

1.เปิดบัญชีร้านค้าแยกจากส่วนตัว

เริ่มต้นจากเปิดบัญชีธนาคารแยกต่างหากระหว่างส่วนตัว และร้านค้า เปิดในนามบุคคลก็ได้นะ แต่เพียงให้เรารู้ว่าบัญชีนี้แหละเป็นของร้านค้าเท่านั้น จะได้เช็คได้ชัวร์ๆ ว่าเงินที่เข้าและออกของธุรกิจเป็นเท่าไร สุดท้ายถ้าต้องชี้แจ้งสรรพากรก็ทำได้ง่ายขึ้น

2.แยกบัญชีรับเงิน และจ่ายเงิน

สำหรับบัญชีร้านค้า ถ้าอยากจัดการให้ง่ายขึ้นไปอีก ควรแยกสองบัญชีออกจากกันแบบนี้

  • บัญชีรับเงิน ไว้รับเฉพาะเงินค่าขายของเท่านั้น
  • บัญชีจ่ายเงิน ในบัญชีนี้ใส่เงินทุนธุรกิจเอาไว้ 1 ก้อน แล้วจากนั้นไว้จ่ายอย่างเดียว อย่าเอาเงินรับมาปน

สิ้นเดือนปุ๊บเรารู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งบวกเลขเลยว่า ธุรกิจมีรายรับเท่าไร และรายจ่ายเท่าไร ช่วยให้แม่ค้าทั้งหลายเช็คผลประกอบการง่ายๆ ในไม่กี่นาที

ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า อ่าว..แล้วถ้าเงินใน “บัญชีจ่าย” หมดชั้นจะทำยังไง จะเอาเงินจากบัญชีรับมาเติมได้มั้ย ข้อถัดไปเราตอบไว้ให้แล้ว

3.บัญชีจ่ายเงินตั้งงบประมาณไว้ทุกเดือน และเก็บเอกสารให้ครบ

พอบัญชีจ่ายมีแต่จ่ายออกก็จะเกิดปัญหาว่า เงินไม่พอ ต้องทำยังไง คำตอบง่ายๆ คือ “ตั้งงบประมาณใช้จ่าย” ไว้ทุกต้นเดือน

เช่น จากข้อมูลเดินบัญชีที่ผ่านมา เรารู้คร่าวๆ ล่ะว่าทุกเดือนจ่ายเงินออกทั้งหมด 100,000 บาท ตอนแรกเราใช้เงินทุนหมดไปแล้ว ก็กำหนดว่าเดือนถัดไปให้โอนจากบัญชีรับเงินมาใส่ไว้ในบัญชีจ่ายเงินทุกวันที่ 1 จำนวน 100,000 บาท

จากนั้นก็ใช้จ่ายจากบัญชีนี้ได้ตามปกติ

แต่ๆๆ อย่ามัวจ่ายจนเพลินนะ ถ้าจ่ายจนเงินหมดขึ้นมาเมื่อไร หมายถึง เราใช้เกิน Budget ล่ะ..ต้องย้อนกลับไปขอเบิกจากบัญชีรายรับอีกครั้ง ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ทุกเดือนจ้า

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ต้องทำสำหรับบัญชีจ่ายเงิน คือ ทุกครั้งที่จ่ายเงินอย่าลืม note ในหมายเหตุและเก็บเอกสารใบเสร็จรับเงินไว้ให้ครบถ้วน เพราะนี่เป็นหลักฐานชั้นดีเพื่อพิสูจน์กับสรรพากรว่า ชั้นมีต้นทุนนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ รายได้ก็ลอยมาเฉยๆ

4.บัญชีรับเงินทำให้รับง่าย และเช็คยอดทุกวัน

บัญชีรับเงินเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้ารับเงินยากลูกค้าก็ไม่อยากซื้อ เริ่มต้นเลย…ไปทำ QR Code ไว้ซะ

บางธนาคารถ้าเราสมัครเตือนเงินเข้าไว้ รู้ได้ทันใจเลยนะว่าลูกค้าโอนแล้ว พร้อมมีเสียงเหรียญเข้าเตือนด้วย ได้ยินแล้วกระชุ่มกระชวยสุดๆ

แต่ฟังแค่เสียงเงินเข้าไม่พอนะ ทุกครั้งที่เงินเข้าอย่าลืมออกใบเสร็จให้ลูกค้าด้วยจะได้มีหลักฐานยืนยัน และมันสำคัญมาก เพราะทุกสิ้นวันเราจะครอสเช็คได้ทันทีว่าเงินเข้าครบมั้ย เทียบกับสต็อกที่ตัดออกไปมันถูกจริงๆ หรือเปล่า

5.วิเคราะห์กำไรง่ายด้วย Bank Statement

ข้อสุดท้าย เปิดบัญชีแยกแล้ว รายรับครบแล้ว รายจ่ายครบแล้ว ไม่ได้มีดีแค่เป็นไม้กันผีจากสรรพากร

เจ้าของร้านค้าอย่าลืมเช็คด้วยว่า ยอดรวมรายรับ และยอดรวมรายจ่ายของทั้งสองบัญชีเป็นเท่าไร แล้วเราเหลือกำไรเท่าไรกันแน่ (รายรับ – รายจ่าย = กำไร) ในแต่ละเดือน จาก Bank Statement ที่ของ่ายๆ แบบออนไลน์โดยไม่ถึงนาที

ยิ่ง Statement ครบถ้วน เราก็จะไม่เสียเวลารวบรวมรายการให้วุ่นวาย เช็คได้เลยง่ายๆ ว่าตอนนี้สถานะร้านค้าเป็นยังไงบ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้นจัดการบัญชีธนาคารง่ายๆ แบบฉบับแม่ค้ามือใหม่ ถ้าใครทำตามแล้วนอกจากจะอุ่นใจมีหลักฐานชี้แจงสรรพากร ยังรู้อีกด้วยว่าเรามีกำไรจริงๆ หรือเปล่า แล้วหลังจากนั้น การวางแผนภาษีร้านค้าก็ไปศึกษาเพิ่มเติม

ว่ากันว่าเริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้าไม่อยากเสียภาษีเยอะเพราะรับคนละครึ่ง ลองเริ่มต้นจัดการบัญชีกันตั้งแต่วันนี้กันนะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ