ในวิกฤตย่อมมีโอกาส คำพูดนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไปสำหรับสถานการณ์ Covid-19 เพราะวิกฤตนี้มีหลายรอบ และยาวนานขึ้นเรื่อยๆ จนพวกเราเองก็เริ่มท้อใจลงทุกที
ถ้าวันนี้เราหาโอกาสจากวิกฤตกันไม่เจอ สิ่งที่น่าจะพอทำได้เองและดีที่สุดในเวลานี้ คือ จัดการกับชีวิตและกิจการตัวเองให้ดีที่สุด
สำหรับเจ้าของกิจการตัวเล็กๆ อย่างพวกเราจะจัดการด้านบัญชีของตัวเองอย่างไรในวิกฤต ลองมาดูไอเดียนี้กัน
เริ่มต้นจากแบ่งประเภทสินทรัพย์และหนี้สินที่เรามีอยู่ปัจจุบันออกมาก่อน ว่าตอนนี้เรามีสินทรัพย์และหนี้สินอะไรอยู่บ้าง จากนั้นเจาะลึกกันลงไปทีละตัวว่ามันพอจะมีทางไหน ที่ช่วยให้เรารักษากระแสเงินสด และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีให้คุ้มค่าที่สุด
สินทรัพย์
ลูกหนี้
1.ลูกหนี้ค้างนาน ให้รีบตาม : แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าใครค้างนาน คำตอบคือ ต้องวิเคราะห์อายุลูกหนี้แต่ละรายเสียก่อน
2.เน้นขายเงินสดมากขึ้น : ถ้าสัดส่วนการขายตอนนี้มีขายเชื่อเยอะ แนะนำลองหาช่องทางใหม่ขายของแบบเงินสดให้ได้เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาวงจรเงินสดหมุนเวียนในกิจการ
3.ทบทวนการให้เครดิตเงินเชื่อ : ณ เวลานี้ค้าขายแบบเงินเชื่อเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ถ้าเครดิตไม่ดีจริง การเสี่ยงปล่อยเงินเชื่ออาจทำให้เราปวดหัวตลอดไป
สินค้า
1.วิเคราะห์อายุสินค้า : ถ้าอยากรู้ว่าสินค้าที่สต๊อกอยู่ตัวไหนขายดีหรือไม่ ให้วิเคราะห์อายุสินค้า ถ้ามีตัวไหนค้างนานต้องรีบจัดการ
2.เน้นระบายสินค้าให้เร็วขึ้น : สัมพันธ์กับการวิเคราะห์อายุสินค้า ถ้าค้างนานควรเร่งระบาย ถ้าขายดีควรเร่งหมุนเวียน เพราะทุกวันที่ขายสินค้าได้ หมายถึง กระแสเงินสดที่จะเข้ามาในอนาคต
3.กำจัดสินค้าเสื่อมสภาพ หมดอายุ : สต๊อกที่ค้างนานจนเสื่อมสภาพ หมดอายุ อย่าปล่อยไว้ให้เปลืองพื้นที่ หาวิธีจัดการเพื่อลดค่าใช้จ่ายเก็บรักษา
เครื่องจักรอุปกรณ์
1.ไม่ใช้ก็ขายทิ้ง : สำรวจโรงงาน สำนักงานว่ามีอะไรไม่จำเป็นบ้าง ถ้าไม่ใช้ ตัดใจ…ขายทิ้งเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด
2.ถ้าใช้อยู่ ดูว่ายังทำเงินได้ดีมั้ย : ถ้าใช้แล้ว ทำงานได้กระท่อนกระแท่น สามวันดีสี่วันไข้ ให้รีบซ่อมแซมรักษา เพื่อช่วยให้ผลิตสินค้า สร้างกระแสเงินสดได้เร็วขึ้น
หนี้สิน
เจ้าหนี้
1.ซื้อมาต้องคุ้ม : ก่อนจะเป็นหนี้ คิดเสมอว่า ซื้อมาแล้ว ต้องใช้ให้คุ้ม
2.เน้นซื้อเงินเชื่อ : เวลานี้อะไรซื้อเชื่อได้ ซื้อไปก่อน เพราะต้องรักษากระแสเงินสด (แต่ถึงเวลาจ่าย ก็ต้องจ่ายอยู่ดีนะ)
3.ค้างนานต้องรีบเจรจา : ค้างหนี้ใครนาน อย่าหนี ให้เจรจากันดีๆ มันต้องมีทางออก
เงินกู้ยืม
1.เช็คตารางจ่ายชำระ : ว่าจ่ายเมื่อไร ยังจ่ายได้ไหม จะผิดนัดหรือเปล่า
2.ถ้าไม่ไหว ให้รีบเจรจาแต่เนิ่นๆ : ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วจ่ายไม่ไหว ให้รีบเจรจาแต่เนิ่นๆ
ภาพรวมทั้งกิจการ
1.อ่านงบการเงินสม่ำเสมอ : เพื่อหาจุดบกพร่อง ไปปรับแก้ไข
2.ทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย : เพื่อคาดการณ์กระแสเงินสดล่วงหน้าได้ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายแล้วสิ่งที่อยากฝากไว้ สำหรับเจ้าของกิจการ แม้ว่าวันนี้เรายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ Covid-19 ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งนึงที่เราพอจะทำได้ด้วยตัวเอง คือ การตั้งสติ หันมาสำรวจกิจการ แล้วค่อยๆ แก้ปัญหาและรับมือกับมันไปพร้อมกัน
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit