ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นธุรกิจไซด์เล็ก คนทำงานไม่ได้เยอะนัก วิธีการทำงานจึงไม่ต้องมีขั้นตอนมากมายให้ยุ่งยาก เพราะเดี๋ยวจะไม่ทันกิน ฮ่าๆ
แต่รู้มั้ยเอ่ยว่า ถึงแม้เราจะทำธุรกิจขนาดเล็กแบบ SMEs การจัดการคลังสินค้าให้ดีด้วย “วิธีการนับสต๊อก” นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และตัดทิ้งออกจากขั้นตอนบริหารธุรกิจไม่ได้เลยค่ะ
เพราะอะไรการนับสินค้าจึงสำคัญ และถ้ามันสำคัญนัก เราจะมีวิธีเริ่มต้นนับสินค้าอย่างไรดีนะ ลองมาเรียนรู้กันที่นี่ได้เลยจ้า
ไม่เคยนับสต๊อกเลย มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
1. เก็บสินค้ามากหรือน้อยเกินไป
ถ้าไม่เคยนับสินค้าเลย อาจจะไม่รู้ว่าปริมาณสินค้าคงเหลือจริงๆ เป็นเท่าไร และนี่จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ๆ 2 เรื่องนี้
- สินค้าล้นสต๊อก และค่าใช้จ่ายที่ตามมา เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าพนักงานดูแลสินค้า
- สินค้าขาดสต๊อก ทำให้เสียโอกาสในการขายสินค้า ในช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการ
2. ไม่รู้เทรนด์สินค้ายอดนิยม หรือสินค้าหมุนเวียนช้า
การวิเคราะห์การหมุนเวียนสินค้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยค่ะ ถ้าเราไม่เคยนับจำนวนสินค้าอยู่เรื่อยๆ กลยุทธ์ในการโฆษณา หรือวางแผนการตลาดก็จะยากขึ้นอีกด้วย
3. สินค้าเสีย สูญหาย ไม่เคยรู้ตัว
สินค้าเสียหาย เกิดขึ้นได้หลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเบิกเข้า ผลิต หรือระหว่างรอจำหน่าย ถ้าไม่มีการนับสินค้าเป็นประจำ ของเสีย ของหาย ไม่มีใครมาบอก ยิ่งนานไป ก็เหมือนเงินที่ไหลออกแบบเลือดไหลซิบๆ เลยล่ะ
4. กระแสเงินสดไม่หมุนเวียน
สต๊อกสินค้าเป็นตัวสร้างเงิน และผลาญเงินธุรกิจในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่เคยนับสินค้าเลย
แหม่ แค่เล่ามา 4 ข้อนี้ก็รู้สึกว่า ไม่ได้กาลละ เราต้องเริ่มนับสินค้ากันบ้างแล้ว แล้วขั้นตอนง่ายๆ สำหรับการตรวจนับสินค้าประจำเดือนหรือประจำปีมีอะไรบ้าง ลองมาเรียนรู้กันค่ะ
ขั้นตอนนับสต๊อกสินค้าสำหรับ SME ทำยังไง
ขั้นตอนที่ 1: เตรียมตัว
ถ้าเตรียมตัวนับสินค้าดีจะมีชัยไปกว่าครึ่ง การเตรียมตัวนับสินค้าก่อนถึงวันจริง เราทำได้ดังนี้
- จัดระเบียบคลังให้เรียบร้อย ของดีของเสียแยกออกชัดเจน สินค้าแต่ละกระบวนการตั้งแต่ วัตถุดิบ งานระหว่าง สินค้าสำเร็จรูป แยกเป็นสัดส่วนให้ดี
- เรียงลำดับสินค้าอย่างเป็นระบบ เช่น เรียงตาเลข SKU หรือเรียบตามตัวอักษร
- หาเครื่องมือช่วยลดเวลา เช่น สแกน Barcode แทนนับมือ หรือมีโปรแกรมช่วยจดเวลานับสินค้า
ขั้นตอนที่ 2: เลือกเวลาที่เหมาะสม
การวันและเวลาที่เหมาะสม ทำให้การนับสินค้าไม่วุ่นวาย โกลาหล
ยกตัวอย่างวันที่ดีในการนับสินค้า คือ วันที่ยอดเคลื่อนไหวสินค้าน้อยๆ ผลิตน้อย หมุนเวียนน้อย การจัดการก็จะง่ายกว่า วันที่ของเข้าออกอยู่ตลอดเวลา นับไปแล้ว เอ๊ะ… ทำไมของเพิ่มมาอีก แบบนี้ไม่ไหวจะนับแน่นอนค่ะ
อ้อ และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ควรเลือกนับวันที่มีคนช่วยนับอย่างเพียงพอด้วยนะ ไม่ใช่นับสินค้าในวันที่คนขาด แบบนี้มีคนเดียวที่นับได้ก็คือ เจ้าของกิจการจ้า
ขั้นตอนที่ 3: ลงมีนับสินค้าเลย
ในวันที่นับสินค้าจริงๆ ต้องแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครนับสินค้าหมวดไหน อย่าลืมติดเครื่องหมายหรือ Tag จะได้ไม่งงว่านับสินค้าไปแล้วบ้างหรือยัง และที่สำคัญการนับสินค้าอย่างละเอียดและเป็นระบบจะช่วยลดข้อผิดพลาด สุดท้ายจะได้ไม่ต้องมาวนนับรอบ 2 นะจะบอกให้
ขั้นตอนที่ 4: กระทบยอดนับจริงและรายงาน
เมื่อนับสินค้าได้ครบทุกหมวดจนหนำใจไปแล้ว อย่าลืมขั้นตอนสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเปรียบเทียบจำนวนสินค้าที่นับได้ กับรายงานในระบบบัญชี ว่ามีความแตกต่างกันไหม
โดยปกติ ถ้าพบความแตกต่าง สิ่งที่เราต้องทำเป็นลำดับมีดังนี้
- นับใหม่ อีกทีว่านับครบทุกที่ไหม
- ตรวจสอบการรับสินค้าเข้าออกว่าบันทึกรายการครบไหม
สุดท้าย ถ้าเช็คละเอียดแล้วว่านับสินค้าและได้ต่างจากรายงานจริงๆ และถ้ารายงานผิดพลาด เราจะต้องกลับไปให้นักบัญชีปรับปรุงรายการให้ตรงกับความเป็นจริง ก่อนปิดจ๊อบงานนี้ค่ะ
บทสรุป
การตรวจนับสินค้าสำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนที่ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือ การเช็คปริมาณสินค้าที่อยู่ในคลังว่าตรงกับรายงานสินค้าคงเหลือจริงๆ หรือไม่ และทุกครั้งที่นับสินค้าจบ นุชเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจและทีมงานเอง จะได้เรียนรู้จากความแตกต่างอะไรบางอย่าง และนำกลับไปพัฒนาการทำงานได้ดีขึ้นค่ะ
คำถามที่พบบ่อย
- เหตุใดการนับสินค้าจึงจำเป็นสำหรับ SME
การนับสินค้าเป็นประจำช่วยให้การจัดการสินค้าคงคลังแม่นยำ ช่วยระบุแนวโน้มการขาย ลดการขาดทุน และเพิ่มประสิทธิภาพกระแสเงินสดสำหรับ SMEs
- ควรตรวจนับสินค้าบ่อยแค่ไหน
ความถี่ของการนับสินค้าขึ้นอยู่กับความต้องการของธุรกิจว่าต้องการความถูกต้องของสินค้ามากน้อยอย่างไร โดยทั่วไปขั้นต่ำเราตรวจนับกันปีละครั้งค่ะ แต่ Zero to Profit ไม่แนะนำ เพราะคิดว่ามันน้อยเกินไปน้า อย่างน้อยไตรมาสละครั้งก็น่าจะดีกว่า
- การนับสินค้าช่วยวางแผนการเงินได้อย่างไร
เราสามารถจัดสรรทรัพยากร ที่เรียกว่า สินค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าจัดการได้ดีเงินก็เข้าไว และเงินก็หายไปช้าเช่นเดียวกัน
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit