ลูกจ้างรู้หรือไม่ ? เงินสมทบประกันสังคม นอกจากจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เงินชราภาพยามเกษียณ รวมทั้งเงินชดเชยการว่างงานได้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยค่ะ
แล้วเราจะใช้สิทธิ์ลดหย่อน และมีวิธีตรวจสอบการหักเงินสมทบประกันสังคมได้อย่างไรบ้างนั้น วันนี้มีข้อมูลการ “เช็กสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากประกันสังคมทำยังไง” มาฝากทุกคนกันค่ะ
ลูกจ้างใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีประกันสังคมยังไงบ้าง
การเสียภาษีจะคำนวณจากรายได้จากแหล่งต่าง ๆ และรายจ่ายที่มีเป็นรายปี โดยในช่วงที่ยื่นภาษีนั้น หลายคนจะนึกถึงการลดหย่อนภาษีกันใช่ไหมคะ ? เพราะการลดหย่อนภาษีจะเป็นสิทธิ์หนึ่งที่ช่วยให้คนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือนนั้นเสียภาษีน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนกองทุนรวม SSF หรือ RMF การซื้อประกันชีวิต ชอปดีมีคืน เงินบริจาค รวมทั้งเงินสมทบของประกันสังคม ที่ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันสังคมได้เช่นกันค่ะ
โดยกรมสรรพากรได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับค่าหย่อนภาษีประกันสังคมไว้ว่า ลูกจ้างสามารถนำเงินสมทบที่จ่ายในทุก ๆ เดือนมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริงได้ โดยลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท หากหลายคนอ่านตรงนี้แล้วยังไม่เห็นภาพ จะขอยกตัวอย่างสถานการณ์เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้นนะคะ
ยกตัวอย่าง
นาย A | นาย B |
นาย A ทำงานในบริษัท ABC มาแล้ว 1 ปี และจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 750 บาท | นาย B เป็นเด็กจบใหม่ เข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัท ABC ในเดือนมิถุนายน ซึ่งทำงานมาแล้ว 6 เดือนและจ่ายเงินประกันสังคมเดือนละ 750 บาท |
กรณีของนาย A ที่ทำงานที่บริษัทมาแล้ว 1 ปี ซึ่งแต่ละเดือนจะถูกหักจากเงินเดือน 750 บาท เป็นเวลา 12 เดือน
ดังนั้น นาย A จะมีค่าลดหย่อนภาษีประกันสังคมอยู่ที่ 750 x 12 = 9,000 บาท นั่นเองค่ะ
ในขณะเดียวกัน นาย B ที่เพิ่งเข้ามาทำงานและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ครั้งแรก อีกทั้งเดือนที่ 6 ของการทำงานจะตรงกับเดือนธันวาคม เท่ากับว่านาย B จะมีค่าลดหย่อนภาษีประกันสังคมอยู่ที่ 750 x 6 = 4,500 บาท นั่นเองค่ะ
จากสองตัวอย่างนี้ หวังว่าจะช่วยให้ลูกจ้างทุกคนเข้าใจมากขึ้นนะคะ
คำถามต่อไปหลายคนอาจมีข้อสงสัยก็คือ เงินสมทบประกันสังคมที่ถูกหักจากเงินเดือนแต่ละเดือน สามารถเช็กได้จากไหนบ้าง ? ซึ่งทุกคนสามารถเช็กข้อมูลเงินสมทบเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีได้จากเอกสารต่าง ๆ ในหัวข้อถัดไปค่ะ
วิธีเช็กเงินสมทบประกันสังคมที่ถูกหักจากเงินเดือน
จำนวนเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมดที่ถูกหักจากเงินเดือนของลูกจ้างแต่ละเดือน สามารถเช็กได้ 4 วิธี โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
1. ใบ 50 ทวิ
ใบ 50 ทวิ หรือที่มีชื่อเต็มว่า “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” เป็นเอกสารที่ผู้ซึ่งจ่ายเงินได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกให้กับผู้รับเงินซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้รับเงินได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการหักภาษี และนำไปใช้ในการยื่นภาษีประจำปี
สำหรับใครที่ต้องการเช็กเงินสมทบที่ถูกหักในปีนั้น ๆ ให้ดูที่ช่องกองทุนประกันสังคมตรงช่องเงินที่จ่ายเข้าด้านล่างของเอกสาร ซึ่งตัวเลขที่แสดงจะเป็นจำนวนเงินสมทบประกันสังคมรวมทั้งหมดที่ส่งไปทั้งปีนั่นเองค่ะ
2. สลิปเงินเดือน
สลิปเงินเดือน เป็นเอกสารที่บริษัทออกให้เพื่อแสดงรายได้สุทธิที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งจะมีการแจกแจงรายได้ และรายจ่ายที่ถูกหักออกไปจากเงินเดือน พร้อมกับรายได้ – รายจ่ายสะสมภายในปีนั้น ๆ ใครที่ต้องการจะเช็กเงินสมทบประกันสังคมจากสลิปเงินเดือน ให้ดูที่ช่องเงินประกันสังคมสะสม ซึ่งจะแสดงจำนวนเงินประกันสังคมทั้งหมดในปีนั้น ๆ ค่ะ
3. My Tax Account
My Tax Account เป็นระบบหนึ่งของกรมสรรพากร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงข้อมูลของตัวเอง เพื่อตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตรวจสอบประวัติการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 / 91 และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี ซึ่งใครที่ต้องการเช็กจำนวนเงินสมทบที่โดนหักในปีนี้ สามารถเช็กผ่านระบบนี้ได้เช่นกันค่ะ
ในการตรวจสอบจำนวนเงินสมทบประกันสังคมที่จะใช้ลดหย่อนภาษี มีขั้นตอนในการเข้าระบบ My Tax Account ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร และคลิกที่ My Tax Account
2. ลงชื่อเข้าใช้ด้วยวิธี RD ID เพื่อเข้าสู่ระบบ My Tax Account โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน ระบบจะส่งเลข OTP ผ่านเบอร์โทรศัพท์ เพื่อทำการยืนยันตัวตน
3. เมื่อกรอกเลข OTP เรียบร้อยแล้ว ระบบจะพาเข้าไปที่หน้าแรกของ My Tax Account ให้เลือกปีภาษีที่จะตรวจสอบ แล้วคลิกที่ “ตรวจสอบข้อมูล”
4. ระบบจากพาไปที่หน้าตรวจสอบรายได้และค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งจะแสดงรายการค่าลดหย่อนภาษีของตัวเองทั้งหมด ให้คลิกที่ “การออมและการลงทุน”
5. เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว จะพบรายการลดหย่อนภาษี ได้แก่ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันสุขภาพ ให้ดูที่เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และจะพบจำนวนเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
6. กดถัดไปเพื่อทำการยื่นภาษี ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะยื่นโดยใช้ข้อมูล หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่ถ้าหากใครยังไม่ต้องการยื่นในตอนนี้ก็สามารถกลับไปที่หน้าหลักได้
4. เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (SSO)
เรียกได้ว่าหลายคนคงจะรู้สึกคุ้นเคยกับเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมจากการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นผู้ประกันตนกันมาบ้างแล้ว ครั้งนี้จะมาบอกวิธีเช็กข้อมูลเงินสมทบประกันสังคมที่ถูกหักจากเงินเดือนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
- เข้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
2. คลิกที่ “เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน/สมัครสมาชิก”
3. เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชน และรหัสผ่าน
4. เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ให้ไปที่ “ข้อมูลการส่งเงินสมทบ”
5. เลือกปีที่จะตรวจสอบ และคลิก “ค้นหา” ระบบจะแสดงข้อมูลการส่งเงินสมทบที่นำส่งทุกเดือน
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 วิธีนี้สามารถตรวจสอบจำนวนเงินสมทบที่ทั้งหมดในปีนั้น ๆ ได้ วิธีไหนจะง่ายที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนว่าถนัดตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนประกันสังคมทางไหนมากกว่านั่นเองค่ะ
นอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่หลายคนต้องทำความเข้าใจ ซึ่งจะมีความแตกต่างตรงที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน แต่ทั้งนี้ ก็สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้จากหัวข้อถัดไปค่ะ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในการทำธุรกิจย่อมมีทั้งรายได้ และรายจ่ายเกิดขึ้นในบริษัทเสมอ เมื่อถึงเวลายื่นรายการภาษี จึงต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ครั้งต่อปีตามกฎหมาย นั่นคือ ช่วงครึ่งปีแรกให้ใช้ ภ.ง.ด. 51 ส่วนปลายปีให้ใช้ ภ.ง.ด.50 ซึ่งก่อนจะทำการยื่นแสดงรายการภาษี มีวิธีการคำนวณภาษีง่าย ๆ คือ
รายได้ – รายจ่าย = กำไร
จากนั้นนำกำไรไปคิดคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งถ้าหากคำนวณแล้วพบว่ามีตัวเลขกำไรที่ค่อนข้างสูง อาจต้องเสียภาษีนิติบุคคลในจำนวนเงินที่เยอะ และเพื่อให้เสียภาษีต่ำที่สุด
หลายบริษัทจึงเลือกที่จะเพิ่มรายจ่ายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กำไรดูน้อยภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็มีรายจ่ายบางรายการที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น ค่าจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี ค่าเสื่อมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างงานผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง เป็นต้น
สำหรับเงินสมทบประกันสังคมที่บริษัทจ่ายไป ก็สามารถเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ด้วยนะ ฉะนั้น เมื่อจ่ายเงินแล้ว อย่าลืมเก็บเอกสารใบเสร็จรับเงิน ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้เป็นรายจ่ายทางภาษีอย่างสมบูรณ์นะคะ
สรุป
ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่หลายคนมักจะถูกหักจากเงินเดือนนั้น สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีประกันสังคมได้ตามจำนวนจริง และสูงสุด 9,000 บาท โดยสามารถเช็กข้อมูลได้จากใบ 50 ทวิ, สลิปเงินเดือน, My Tax Account ของเว็บกรมสรรพากร และเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมค่ะ
นอกจากนี้ ใครที่ทำธุรกิจ เปิดบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งหากต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีน้อยลงก็สามารถใช้รายจ่ายสมทบประกันสังคมเป็นค่าใช้จ่ายภาษีได้เช่นกันค่ะ
จะเห็นได้ว่า เรื่องภาษีเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องดำเนินการยื่นภาษีตามกฎหมายให้เรียบร้อย ดังนั้น อย่าลืมเช็กข้อมูลการลดหย่อน รายรับ-รายจ่าย คำนวณภาษี และยื่นภาษีประจำปีกันนะคะ
อยากขึ้นทะเบียนนายจ้าง ลูกจ้างประกันสังคม หรือยื่นประกันสังคมออนไลน์ ไม่รู้จะเริ่มยังไง ติดต่อ
Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit