อาจจะเป็นเพราะเค้าเป็นห่วง เสียดายตังค์ หรือ….อยากเผือก (แหม่..เหตุผลหลังนี่แอดมินเจอบ่อยสุดเลย 555)
ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เจ้าของธุรกิจเองก็ควรจะตอบคำถามนี้กับตัวเองให้ได้เช่นกัน
การลงทุนในธุรกิจไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้น หรือ bitcoin ที่ลงเงินปุ๊บรู้กำไรทันที แต่ธุรกิจมันมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างกว่าจะลงทุนไป กว่าจะหารายได้ และสุดท้ายได้ผลกำไรตอบแทนกลับมา
และก่อนจะไปวิเคราะห์ว่าลงทุนแล้วคุ้มรึป่าว อยากจะชวนเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อน
เราลงทุนไปกับอะไร?
อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจของเราต้องลงทุนไปกับอะไรบ้าง
การลงทุนในที่นี้หมายถึง การลงเงินในสินทรัพย์ระยะยาว (ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1 ปี) แต่ถ้าลงเงินแล้วปุ๊บ ใช้ประโยชน์หมดไปปั๊บ ในทางบัญชีเค้าเรียกว่า “ค่าใช้จ่าย” ไม่ใช่ “การลงทุน”
ตัวอย่างการลงทุนที่เราเจอบ่อย ก็เช่น
- ลงทุนซื้อที่ดิน 12 ล้านบาท
- ลงทุนสร้างโรงงาน 8 ล้านบาท
- ลงทุนในเครื่องจักร 5 ล้านบาท
เห็นมั้ยว่าทุกๆ รายการที่เราลงทุนไปจะต้องรู้มูลค่า จะได้เอาตัวเลขนี้ไปวิเคราะห์ต่อได้ แต่ถ้าเริ่มต้นเราไม่เคยจดหรือมีข้อมูลการลงทุนเลย เราไม่มีทางไปคิดต่อได้เลยว่า สุดท้ายแล้วลงทุนแล้วคุ้มหรือเปล่า
จากตัวอย่างนี้ทั้งธุรกิจลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวเป็นเงินทั้งสิ้น 25 ล้านบาท จากนั้นเราไปวิเคราะห์กันต่อเลย
1.วิเคราะห์การสร้างรายได้
พอลงทุนแล้ว เจ๊ง หรือ เจ๋ง เรามาวัดกันต่อที่นี่ ว่าสินทรัพย์พวกนี้มันสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มั้ย และมากน้อยเท่าไร
บางครั้งเรามองภาพแยกว่าแค่สร้างรายได้ก็แฮปปี้แล้ว แต่จริงๆ เราต้องมาเปรียบเทียบกันให้รู้ไปเลยว่า สินทรัพย์ 25 ล้านนี้ หมุนมาเป็นรายได้ได้กี่เท่ากันนะ
คำนวณง่ายจากสูตรนี้
อัตราหมุนเวียน (เท่า) = รายได้รวม / สินทรัพย์รวม
สมมติจากตัวอย่างก่อน เราลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวรวม 25 ล้านบาท แล้วในปีนี้ทำรายได้เท่ากับ 35 ล้านบาท
พอมาคิดอัตราหมุนเวียน จะได้ = 35/25 = 1.4 เท่า
นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ที่ลงทุนไปทุก 1 บาท สร้างรายได้กลับมาให้ธุรกิจ 1.4 เท่า และแน่นอนว่าใครๆ ก็อยากหารายได้ได้เยอะๆ ในขณะที่ลงทุนน้อยๆ อัตราส่วนหมุนเวียนของสินทรัพย์ตรงนี้ถ้ามีเยอะก็จะยิ่งดี
แต่เมื่อไรก็ตามที่เราวิเคราะห์สัดส่วนอัตราหมุนเวียนแล้วได้น้อยกว่า 1 นั่นแปลว่า สินทรัพย์นี้มีความสามารถในการหารายได้ต่ำไปหน่อย ตอกย้ำตัวเองกลายๆ ว่าการลงทุนอาจไม่คุ้มค่าเอาซะเลย
2.วิเคราะห์ผลตอบแทน
แค่มีรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์เยอะยังไม่พอ เรามาต่อกันที่การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากสินทรัพย์กันบ้าง ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า return on asset หรือ ROA
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์จะเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างกำไรสุทธิกับสินทรัพย์รวม เพื่อดูว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุนไปมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีหรือไม่ จากสูตรนี้
อัตราผลตอบแทน (%) = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์รวม
จากตัวอย่างเดิม เราลงทุนในสินทรัพย์ 25 ล้านบาท หารายได้ได้ 35 ล้านบาท ซึ่งรายได้นี้ทำกำไรได้ 7 ล้านบาท
การลงทุนตรงนี้มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ = 7/25 = 28%
หรือแปลเป็นตัวเลขง่ายๆ อย่างงี้ว่า ทุกๆ การลงทุนในสินทรัพย์ 1 บาท เราจะสร้างกำไรได้ 0.28 บาท
เห็นแบบนี้แล้ว พวกเราน่าจะอยากหาวิธีที่จะทำให้ ได้กำไรเยอะๆ แต่ลงทุนในสินทรัพย์น้อยๆ กันต่อใช่ไหม
เพราะยิ่งอัตราผลตอบแทนยิ่งเยอะ ยิ่งแปลว่าการลงทุนมีกำไรกลับมามาก หรืออีกนัยนึงอาจเกิดจากการใช้สินทรัพย์พวกนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
.
3.วิเคราะห์สัดส่วนต่อเจ้าของ
เราพูดถึงเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ แล้วเปรียบเทียบกับทั้งรายได้และกำไรไปแล้ว
คราวนี้มาเบรกอารมณ์กันด้วยเรื่องของความเสี่ยงบ้าง แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์จะสร้างโอกาสทำให้เกิดรายได้ หรือกำไรตามมาก็จริง แต่ในทางกลับกันการลงทุนแบบหมดหน้าตักก็อาจทำให้ธุรกิจเจ๊งแบบไม่เป็นท่า เพราะขาดสภาพคล่องก็เป็นได้
ฉะนั้น เราต้องคอยมอร์นิเตอร์ว่าการลงทุนเนี่ยมีสัดส่วนมากน้อยขนาดไหน ถ้าเทียบกับส่วนของเจ้าของทั้งหมด จากสูตรนี้
สัดส่วนการลงทุนต่อเจ้าของ (%) = มูลค่าสินทรัพย์ / ส่วนของเจ้าของ
ยิ่งมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนระยะยาวเยอะ เราจะยิ่งเหลือสินทรัพย์หมุนเวียน(ระยะสั้น) น้อย
จากตัวอย่างนี้ ถ้าเราลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว อย่างที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร จำนวน 25 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนของเจ้าของทั้งหมดเราเท่ากับ 36 ล้านบาท
สัดส่วนการลงทุนต่อเจ้าของจะเท่ากับ 25/36 = 69%
แปลว่า ถ้ามีส่วนของเจ้าของ 100 บาท เราแบ่ง 69 บาทไปให้กับการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวไปซะแล้ว ส่วนที่เหลือ 31 บาท นี้จะถือเป็นสินทรัพย์ระยะสั้น อย่างพวกเงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ
ตัวเลขนี้เจ้าของธุรกิจต้องย้อนกลับมามองอีกทีว่า มันเหมาะสมกับธุรกิจหรือไม่
เช่น ถ้าเรามีเจ้าหนี้ระยะสั้นอยู่ 50% แต่สินทรัพย์หมุนเวียนเหลือแค่ 31% แบบนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องตามมาติดๆ
แม้สินทรัพย์จะสร้างกำไรให้ได้มาก แต่หน้างานไม่มีเงินหมุน ธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้มันน่าเสียดายสุดๆ
โดยสรุปแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ธุรกิจ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า “มันคุ้มไหม” ด้วยการเปรียบเทียบทั้ง 3 เรื่อง
- การสร้างรายได้
- อัตราผลตอบแทน
- สัดส่วนต่อเจ้าของ
เพื่อสรุปให้ได้ว่าเงินที่ลงไปมี “ประโยชน์” มากน้อยแค่ไหน และมี “ความเสี่ยง” ที่ต้องแบกรับเท่าไร
เพราะผลลัพธ์ของการลงทุน ไม่ได้มีแค่กำไรเพียงด้านเดียว ถ้าวิเคราะห์เป็นโอกาสสร้าง “กำไร” อาจมีมากกว่า “ขาดทุน” ก็ได้นะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit