วิเคราะห์งบแบบ 360 องศา ด้วยอัตราส่วนอย่างง่าย

วิเคราะห์งบแบบ 360 องศา ด้วยอัตราส่วนอย่างง่าย

ถ้าอยากบริหารเก่ง เจ้าของธุรกิจต้องวิเคราะห์งบการเงินให้เก่งด้วย

แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าการวิเคราะห์งบก็คือ การเปรียบเทียบงบปีนี้กับปีก่อนว่ามีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่เพียงเท่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าอยากรู้ความสัมพันธ์ของธุรกิจในทุกแง่มุมแบบ 360 องศา แค่การเปรียบเทียบแนวโน้มของงบอย่างเดียวอาจยังไม่พอ

อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง ที่ช่วยวิเคราะห์งบและความสัมพันธ์ของรายการต่างๆ ในงบการเงิน อย่างทะลุปรุโปร่ง

อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) บอกเราได้ 4 เรื่องสำคัญๆ เป็นอย่างต่ำ คือ

  • ธุรกิจทำกำไรได้ดีไหม
  • เงินลงทุนที่จ่ายไป มันคุ้มค่าหรือเปล่า
  • ธุรกิจมีสภาพคล่องเป็นอย่างไร
  • เรามีกำลังพอจ่ายชำระหนี้หรือเปล่า

ทั้ง 4 เรื่องที่ว่า ถ้าเราไม่วิเคราะห์โดยใช้อัตราส่วนอาจจะมองไม่ออกถึงความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ แล้ว 4 เรื่องที่ว่าเราใช้อัตราส่วนอะไรมาวิเคราะห์บ้าง ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกัน

1.วิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร

ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจทำกำไรได้เก่งหรือไม่ เราต้องใช้อัตราส่วนช่วยวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร เพื่อที่จะดูว่ากิจการทำกำไรในแต่ละขั้นเป็นยังไงบ้าง

อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรที่เราควรรู้จักมีด้วยกัน 3 ตัว ตามนี้

  1. อัตราส่วนกำไรขั้นต้น = บอกความสามารถในการทำกำไรจากสินค้าหรือกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ

วิธีคำนวณทำได้แบบนี้

อัตราส่วนกำไรขั้นต้น = (รายได้หลัก – ต้นทุนขาย)/รายได้

2.อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน = บอกความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานหลักและการดำเนินงานรอง

วิธีคำนวณทำได้แบบนี้

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน = (รายได้ – ต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร)/รายได้

3.อัตราส่วนกำไรสุทธิ = บอกความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด

วิธีคำนวณทำได้แบบนี้

อัตราส่วนกำไรสุทธิ = (รายได้ – ต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร-ดอกเบี้ย – ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้)/รายได้

ทั้ง 3 อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร แสดงให้เห็นกำไรในแต่ละขั้นเทียบกับรายได้ และสาเหตุที่จะต้องคำนวณเทียบกับรายได้เพราะว่าเราต้องการคิดเป็น % เพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าบริษัท A บอกว่ามีกำไร 50 ล้านอาจจะฟังดูเยอะ ถ้าเทียบกับบริษัท B กำไร 20 ล้าน

แต่ถ้าลองคำนวณเป็น % จากสูตรข้างต้น ปรากฎว่า บริษัท A มีอัตราส่วนกำไรสุทธิ 5% เทียบกับบริษัท B อัตราส่วนกำไรสุทธิ 20% แบบนี้เราเปรียบเทียบกันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า บริษัท B มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่า เพราะรายได้ 100 บาทเหมือนกัน B สามารถหากำไรได้ตั้ง 20 บาท ส่วน A เองหากำไรได้เพียง 5 บาทเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ถ้าลองคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร ถ้าเรายิ่งได้เยอะในทุกๆ ลำดับขั้น ก็แปลว่า ธุรกิจทำกำไรได้เก่งนั่นเอง

2.วิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงาน

การวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงาน ชื่ออาจจะดูซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงแล้วความหมายไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด เพราะนี่คืออัตราส่วนที่ช่วยเราวิเคราะห์ว่า สินทรัพย์ที่เราลงทุนไป มันสร้างรายได้กลับมาได้ดีแค่ไหน

โดยเราจะตั้งต้นวิเคราะห์รายได้เทียบกับสินทรัพย์หลักๆ 2 แง่มุมตามนี้

1.อัตราการหมุนสินทรัพย์ถาวร = เป็นการดูว่าสินทรัพย์ถาวร อย่างพวกที่ดิน อาคาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ สามารถหมุนเวียนไปเป็นรายได้ได้ดีขนาดไหนจากสูตรนี้

อัตราการหมุนสินทรัพย์ถาวร = รายได้/สินทรัพย์ถาวร

2.อัตราการหมุนสินทรัพย์รวม = อัตราส่วนนี้ช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ว่าสินทรัพย์ที่กิจการลงทุนไปทั้งหมด ตั้งแต่พวกสินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนต่างๆ สิ่งเหล่านี้สร้างรายได้กลับมาได้เร็วขนาดไหน จากสูตรนี้

อัตราการหมุนสินทรัพย์รวม = รายได้/สินทรัพย์รวม

ถ้ายิ่งสินทรัพย์ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ มันจะสร้างรายได้ได้ดี ทำให้อัตราส่วนการหมุนเวียนสินทรัพย์มีค่าสูง แต่เมื่อไรก็ตามที่อัตราส่วนสองตัวนี้ต่ำๆ เราอาจจะต้องย้อนกลับมาทบทวนสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาแล้วว่ามันคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เพราะไม่ได้สร้างรายได้ได้ดีเท่าที่ควร

3.วิเคราะห์สภาพคล่อง

ธุรกิจทุกวันนี้เราสำรวจแค่เงินสดในมืออย่างเดียวว่ามีเท่าไรอาจจะไม่พอ การวิเคราะห์สภาพคล่องธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องวิเคราะห์ให้ทะลุปรุโปร่ง

คำว่าสภาพคล่อง แปลได้ง่ายๆ ว่า การที่ธุรกิจมีเงินพอที่จะจ่ายชำระหนี้ในเวลาอันใกล้ เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินเดือนค้างจ่าย หรือหนี้ระยะสั้น

ฉะนั้น เราจึงโฟกัสเฉพาะการเปรียบเทียบระหว่าง สินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียน 3 ระดับตามนี้ 

1.อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน เป็นอัตราส่วนที่ช่วยวิเคราะห์สภาพคล่องแบบพื้นฐาน เพื่อเปรียบเทียบว่าธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียนเปลี่ยนมาเป็นเงินชำระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีมากน้อยขนาดไหน

โดยคำนวณจากสูตรนี้

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน

หนี้สินหมุนเวียน

2.อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว

ถ้ากิจการไหนคิดว่า สินค้าคงเหลือไม่ได้หมุนเวียนเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้เร็วอย่างที่คิด อาจตัดสินค้าคงเหลือออกจากการคำนวณสภาพคล่องโดยใช้สูตรทุนหมุนเวียนเร็วแทน จากสูตรหนี้

อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว = สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ

                                               หนี้สินหมุนเวียน

ภายในสมมติฐานที่ว่า สินค้าคงเหลือเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้ช้าเหลือเกิน ถ้าเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ในคลาสเดียวกัน

3.อัตราส่วนเงินสด

อัตราส่วนเงินสดเป็นอัตราส่วนเช็คสภาพคล่องแบบระมัดระวังสุดๆ เพราะอัตราส่วนตัวนี้สนใจเฉพาะเงินสดว่ามีเพียงพอไหมสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียน

อัตราส่วนเงินสด คำนวณกันง่ายๆ ตามสูตรนี้

อัตราส่วนเงินสด =        เงินสด   

                              หนี้สินหมุนเวียน

ทั้งสามอัตราส่วนที่ช่วยให้เราวิเคราะห์เรื่องสภาพคล่อง มีตัวส่วนเดียวกันคือ หนี้สินหมุนเวียน แต่ตัวเศษจะเปลี่ยนไปตามแต่ลักษณะธุรกิจและความระมัดระวังของเราเอง ยิ่งคำนวณอัตราส่วนสภาพคล่องได้เยอะเท่าไร ยิ่งบอกได้ว่าธุรกิจมีเงินหมุนได้เร็วมากเท่านั้น แต่เมื่อไรก็ตามอัตราส่วนนี้หล่นฮวบ ต้องระมัดระวังแล้วว่าธุรกิจอาจเงินขาดมือ

4.วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้

ข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หนี้สินในภาพรวม โดยสนใจทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ว่าธุรกิจเรามีโครงสร้างหนี้เป็นอย่างไร มีหนี้เยอะเกินไปไหม และหนี้ที่มีอยู่เราจะจ่ายชำระดอกเบี้ยได้หรือเปล่า

เวลาที่วิเคราะห์ เราตั้งต้นจาก 2 เรื่อง คือ หนี้ (เงินต้น) และดอกเบี้ยจ่าย (ค่าใช้จ่าย)

สำหรับตัวหนี้เอง ต้องเปรียบเทียบกับสินทรัพย์และทุนจากสองอัตราส่วนนี้

1.อัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์รวม = ว่าเรามีหนี้มากน้อยเท่าไรเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ ถ้ายิ่งมีมาก แปลว่าธุรกิจมีความเสี่ยงสูงในการดำเนินงาน และอาจกู้เงินจากแหล่งใหม่ๆ ยาก

2.อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (Debt to Equity) = เราคำนวณง่ายๆ จากหนี้ทั้งหมดเทียบกับส่วนของเจ้าของ เพื่อวิเคราะห์ว่าโครงสร้างสินทรัพย์ของธุรกิจเราเอาเงินมาจากไหนเป็นหลัก เช่น ถ้ามาจากหนี้เยอะกว่าส่วนของเจ้าของ แปลว่า สินทรัพย์ที่มีอยู่ถ้าอยากเลิกก็ต้องคืนเจ้าหนี้เค้าไปก่อน

โดยรวมแล้วถ้าอยากปลอดภัยจากการจ่ายชำระหนี้ แนะนำว่าสัดส่วนตัวนี้มียิ่งน้อย จะยิ่งดี

และในส่วนของดอกเบี้ย ที่เป็นภาระติดตามตัวจากการกู้ยืมเงิน เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีกำไรเพียงพอที่จะจ่ายชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวดหรือไม่ โดยเทียบจากอัตราส่วนนี้

3.อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายคืนดอกเบี้ย = คำนวณจากกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี/ดอกเบี้ยจ่าย ยิ่งอัตราส่วนเยอะยิ่งดี เพราะมีกำไรเพียงพอในการจ่ายดอกเบี้ยนั่นเอง

อธิบายกันมาตั้งยาว เพื่อนๆ น่าจะพอเข้าใจวิธีการวิเคราะห์งบด้วยอัตราส่วนบ้างแล้ว

ถ้าลองฝึกคิดและวิเคราะห์ทั้ง 4 ความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน เราจะรู้เลยว่าการอ่านงบของเราจะไม่ใช่แค่การอ่านแบบธรรมดาๆ อีกต่อไป

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ