“สินค้าทุกชิ้นอาจจะไม่ใช่ต้นทุนขาย

สินค้าทุกชิ้นอาจจะไม่ใช่ต้นทุนขาย

ถ้าอ่านประโยคนี้แล้วยังไม่เข้าใจ….อย่าเพิ่งร้องไห้ไป

คุณไม่ใช่คนเดียวที่งง เพราะเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ก็งงเรื่องนี้เหมือนๆ กัน

ทุกวันนี้ ธุรกิจที่ทำง่ายสุดๆ ธุรกิจนึงก็คือ “ธุรกิจซื้อมาขายไป”

เกิดจากหลักการธุรกิจง่ายๆ ที่ว่าเราไปซื้อของมาจากแหล่งราคาถูก แล้วมาขายในตลาดราคาแพงขึ้นหน่อยเพื่อให้มีกำไร

แล้วถ้าวันนี้เพื่อนๆ กำลังทำธุรกิจซื้อมาขายไปแบบนี้ แต่ว่ายังสงสัยเรื่อง “สินค้า VS ต้นทุนขาย” อยู่ล่ะก็

Zero to Profit จะอธิบายให้ฟังว่าจริงๆ แล้วเราทำความเข้าใจมันง่ายๆ ได้ยังไงบ้าง

ขอยกตัวอย่างของเจ้าของธุรกิจมือใหม่อย่าง “พี่ซีโร่”

เมื่อปีที่แล้วโควิด-19 ระบาด พี่ซีโร่เลยลงทุนซื้อชุดตรวจ ATK นำเข้าจากจีนมาขายที่เมืองไทย

แต่พี่ซีโร่ก็รู้สึกงงๆ ว่าจะตั้งต้นยังไง

เพื่อนๆ ลองช่วยกันตอบคำถาม 3 ข้อที่พี่ซีโร่กำลังเจออยู่ไปพร้อมๆ กันว่าเราคิดแบบเดียวกับพี่ซีโร่ไหม

-1-

ต้นเดือนเมษายน พี่ซีโร่ลงทุนซื้อชุดตรวจ ATK มา 1000 ชุด ราคาต้นทุนตกชุดละ 100 บาท จ่ายเงินไปทั้งหมด 1000×100 = 100,000 บาท เพื่อนๆ คิดว่าเงิน 100,000 บาทนี้ เป็นต้นทุนขายทั้งหมดเลยไหม?

ถ้ามองแว๊บแรก ทุกคนคงตอบว่าใช่ เพราะซื้อของมาแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว มันก็ต้องเป็นต้นทุนขายทั้งหมดน่ะสิ มันจะเป็นอะไรไปได้

แต่ถ้าคิดตามไปพร้อมๆกัน สมมติเดือนเมษายน พี่ซีโร่ยังไม่ได้เปิดขาย ATK รายได้ = 0 แปลว่า ในเดือนเมษายน พี่ซีโร่ จะมีกำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่าย = – 100,000 บาท (กำไรที่ติดลบ = ขาดทุนนั่นแหละ)

คิดแบบนี้มันก็ดูไม่แฟร์สำหรับพี่ซีโร่เลยจริงไหม

แล้วถ้าคิดต่อว่า ถ้า 100,000 บาทนี้ไม่ใช่ต้นทุนขายแล้วมันจะเป็นอะไร?

คำตอบสั้นๆ มันคือ “สินค้าคงเหลือ” นั่นเอง

“สินค้าคงเหลือ” = สินทรัพย์ในธุรกิจ คำว่าสินทรัพย์ หลักใหญ่ใจความของมันคือ มันยังใช้ประโยชน์ได้ในธุรกิจอยู่ เช่น ยังไปขายให้ได้ตังค์ หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นอย่างหน้ากากอนามัยแทนเงินก็ได้

สินค้าคงเหลือต่างกับต้นทุนขายตรงที่ว่า “ต้นทุนขาย” = ค่าใช้จ่าย

“ค่าใช้จ่าย” =  อะไรที่เราใช้ประโยชน์ไปแล้ว หมดประโยชน์ไปในทันที ยกตัวอย่างเช่น ค่าขนส่งนำเข้า ก็มีประโยชน์ไปแล้วต้นเดือนเมษายนตอนที่นำเข้า มาถึงปลายเดือนก็หมดประโยชน์ละ ฉะนั้น ค่าขนส่งนำเข้าก็ถือเป็น ค่าใช้จ่ายทันที

เอ ถ้าย้อนกลับมาคิด แต่ชุดตรวจ ATK ที่เรายังไม่ได้ขาย (ไม่สร้างรายได้) ยังไม่หมดประโยชน์เลยสักนิด ถ้าจะให้เป็น “ต้นทุนขาย” มันก็ไม่เข้าท่าจริงไหม

พี่ซีโร่เข้าใจแล้วว่า ชุดตรวจ ATK ที่ซื้อมาเนี่ย ยังถือเป็นสินทรัพย์ ที่เรียกว่า สินค้าคงเหลือ ได้จนกว่าจะขายออก พอขายออกปุ๊บ สินทรัพย์ (สินค้าคงเหลือ) จะเปลี่ยนเป็น ค่าใช้จ่าย (ต้นทุนขาย) ในทันที

นี่จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “สินค้าทุกชิ้นอาจจะไม่ใช่ต้นทุนขาย….เราต้องขายให้ได้ก่อนมันจึงเป็นต้นทุนขาย”

แต่ๆๆ เข้าใจแค่นี้อาจจะยังไม่พอ

-2-

แต่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม พี่ซีโร่เริ่มเปิดขาย ATK ปรากฎว่า ขายดีมาก จนต้องซื้อมาตุนไว้เพิ่มอีก 2000 ชุด ชุดละ 100 บาท = 2000×100 = 200,000 บาท

แต่พี่โร่ลืมนับไปเลยว่าขาย ATK ตั้งแต่เปิดร้านไปจำนวนกี่ชุด นับเงินได้อีกทีมีรายได้ = 500,000 บาท และเหลือ ATK ตอนปลายเดือนพฤษภาคมอยู่ 600 ชุด

เพื่อนๆ ช่วยพี่ซีโร่คิดได้ไหมว่า สุดท้ายแล้ว “ต้นทุนขาย” ของพี่ซีโร่เป็นเท่าไร  

ถ้าปะติดปะต่อเรื่องราวจากตอนแรกที่เรารู้ว่าสินค้าที่ซื้อมาทุกอันต้องเป็น สินทรัพย์ (สินค้าคงเหลือ) เสียก่อน พอขายออกไปก็เป็นค่าใช้จ่าย (ต้นทุนขาย) ได้เลย แล้วถ้ามีบางส่วนขายได้ บางส่วนเหลืออยู่ล่ะ เราจะคำนวณต้นทุนขายยังไง

เราใช้สมการง่ายๆ นี้ในการคำนวณ

สินค้าต้นงวด + ซื้อมา – สินค้าปลายงวด = ต้นทุนขาย

ถ้าลองแทนค่าดูจะรู้ว่า เราคำนวณต้นทุนขายได้สบายเลย (แม้จะไม่เคยนับสินค้าที่ขายไประหว่างเดือนก็ตาม)

100,000 + 200,000 – (600 ชุด x 100 บาท) = 240,000 บาท

-3-

รู้ต้นทุนขาย แล้วมาต่อกันด้วยเรื่องกำไร

เพื่อนๆ คิดว่าจากที่เล่ามา พี่ซีโร่มีกำไรหรือไม่ ? และมีเท่าไร?

หลายคนคงคิดในใจว่า มีสิ สมการง่ายๆ รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร

คำนวณได้กำไรเท่ากับ 500,000 – 240,000 = 260,000 บาท ทำไมจะไม่รู้

ความเข้าใจนี้ผิดมากๆ เพราะต้นทุนขายนั้น เป็นเพียงแค่ซัพเซท ของค่าใช้จ่าย เท่านั้นเอง

รายได้ – ต้นทุนขาย ทำให้เรารู้แค่ กำไรขั้นต้น (ไม่ใช่กำไรทั้งหมด)

แต่กำไรทั้งหมดนั้นเกิดจาก

รายได้ – ต้นทุนขาย – ค่าใช้จ่ายอื่นๆ = กำไรสุทธิ

เพราะฉะนั้น กำไรที่พวกเราดีใจว่าได้ตั้ง 260,000 บาท อาจไม่ใช่กำไรที่แท้จริงที่เจ้าของธุรกิจควรมอง

ถ้าอยากรู้กำไรแท้จริง ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเท่าไรบ้าง

จากคำถาม 3 ข้อของพี่ซีโร่ เพื่อนๆ น่าจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

สินค้าทุกชิ้น อาจไม่ใช่ต้นทุนขาย…ถ้ายังขายไม่ออก

รู้แค่ต้นทุนขายก็ไม่ได้หมายความว่า เรารู้กำไรแท้จริง

อยากรู้กำไรแท้จริง…ต้องรู้ให้ลึกถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แล้ววันนี้ “กำไร” ที่เรารู้จักเป็น “กำไรที่แท้จริง” หรือยัง นี่คือคำถามที่ต้องย้อนถามตัวเอง

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ