เจ้าของธุรกิจ เงินเดือนเท่าไร จ่ายให้ตัวเองได้ไหม

เจ้าของธุรกิจ เงินเดือนเท่าไร จ่ายให้ตัวเองได้ไหม

หลายๆคนสงสัยกันไหมคะว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจ เราจะสามารถจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองได้หรือป่าว แล้วถ้าจ่ายเจ้าของธุรกิจ เงินเดือนควรเป็นเท่าไรดี? มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้าง ซึ่งวันนี้ Zero to Profit จะมาไขคำตอบกับทุกคนจ้า

เจ้าของธุรกิจมีเงินเดือนผิดหรือไม่?

เจ้าของธุรกิจที่มีการทำธุรกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะทำธุรกิจที่จัดตั้งบริษัทในฐานะเป็นนิติบุคคล หรือ ฐานะบุคคลธรรมดา การจ่ายผลตอบแทน หรือ เงินเดือน ให้กับเจ้าของธุรกิจถือว่าไม่ผิดค่ะ

ถ้าเข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับว่าเจ้าของธุรกิจถือเป็นคนทำงานให้กับบริษัทคนหนึ่ง ซึ่งการจ่ายเงินเดือนก็เป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้กับบริษัทค่ะ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเอง ก็เป็นการแยกเงินกระเป๋าตังค์ระหว่างธุรกิจและส่วนตัวได้อีกด้วย

เจ้าของธุรกิจ เงินเดือนเท่าไรดี? คิดยังไง?

ถ้าเจ้าของธุรกิจจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองได้ คำถามต่อมา แล้วจ่ายเท่าไหร่ดีใช่ไหมล่ะคะ

อย่างแรก เจ้าของธุรกิจต้องสำรวจค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆในเดือนหนึ่งของเราก่อนค่ะ ว่าเดือนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น มีอะไรบ้าง และประมาณๆแล้วเท่าไหร่ (ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกินตัวไปนะคะ)

อย่างที่สอง สรุปค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่อเดือนที่เราสำรวจในตอนแรก แล้วเทียบว่า เจ้าของธุรกิจควรมีเงินเดือนประมาณเท่าไหร่ ซึ่งการเทียบเนี่ย ต้องเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างเป็นไปได้ ไม่มาก/น้อย จนเกินไปนะคะ

จ่ายเงินเดือนเจ้าของเท่าไรดี
จ่ายเงินเดือนเจ้าของเท่าไรดี

ข้อควรระวัง ประเด็นภาษีการจ่ายเงินเดือนเจ้าของธุรกิจ

ข้อควรระวังเรื่องภาษี สำหรับการจ่ายเงินเดือนให้เจ้าของธุรกิจ (อีกนัยหนึ่งคือ กรรมการ หรือผู้ถือหุ้นบริษัท) ก็คือ ต้องกำหนดเงินเดือนให้เหมาะสม ไม่ควรมากเกินไป โดยต้องกำหนดใกล้เคียงกับ สายธุรกิจ หรือ การประกอบธุรกิจเดียวกันค่ะ

ไม่งั้นจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของสรรพากรมีอำนาจในการตรวจสอบเงินเดือนของผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของธุรกิจได้ ถ้าหากสรรพากรเห็นว่าไม่เหมาะสม เงินเดือนบางส่วนที่ทางสรรพากรมองว่าไม่เหมาะสมจะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ค่ะ ตามมาตรา 65 ตรี (8) การคำนวณกำไรสุทธิ ที่เป็นรายจ่ายต้องห้าม

ข้อควรระวัง จ่ายเงินเดือน
ข้อควรระวัง จ่ายเงินเดือน

จ่ายเงินเดือนแล้ว ต้องยื่นอะไรบ้าง?

การจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าของธุรกิจ ก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและภาษี ไม่ว่าจะเรื่องของมุมมองของบัญชีควรบันทึกลงเป็นบัญชีหมวดอะไร หรือเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารที่ใช้ในการยื่นแก่สรรพากร งั้นขออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น หลักๆจะแบ่งได้ 2 มุม

จ่ายแล้วต้องทำอะไรบ้าง
จ่ายแล้วต้องทำอะไรบ้าง

1.มุมของบริษัท

เงินเดือนของเจ้าของธุรกิจก็เหมือนกับผลตอบแทนจากการทำงาน ซึ่งแน่นอนค่ะ ในมุมของบริษัทจะถือเป็น ค่าใช้จ่าย อย่างหนึ่งของบริษัท

และในทางภาษีกำหนดไว้ว่าจะต้องมีภาษี หัก ณ ที่จ่าย เกิดขึ้นทุกครั้งที่จ่ายเงินค่ะ

ภาษี หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่บริษัททำการหักออกจากเงินเดือน แต่ต้องบอกก่อนว่าจะหักสำหรับเงินเดือนที่ถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ซึ่งบริษัทจะยื่นภาษี จากเอกสาร ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก ให้กับสรรพากรค่ะ

ภ.ง.ด. 1 คือ เอกสารแบบแสดงรายการ ภาษี หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ตามมาตรา 50 (1) กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1) และ 40 (2)

ทุกๆเดือน บริษัทมีหน้าที่จัดทำ ภ.ง.ด. 1 ใช้สำหรับการยื่นและชำระภาษี ให้กับสรรพากร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่จ่ายเงินเดือน หรือ ภายใน 15 วัน สำหรับการยื่นและชำระภาษีออนไลน์

ภ.ง.ด. 1ก จะคล้ายๆกับ ภ.ง.ด. 1 ค่ะ แต่เป็นการยื่นเอกสารแบบแสดงรายการ ภาษี หัก ณ ที่จ่าย ประจำปี จะใช้ยื่นหลังจากสิ้นปี ซึ่งก็คือ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.1
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.1
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.1ก
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.1ก

2. มุมของบุคคลธรรมดา

การที่เจ้าของธุรกิจได้รับเงินเดือนจะถือเป็น รายรับ หรือ รายได้ ของเราค่ะ ซึ่งเงินที่เราได้รับ ก็ต้องมีการยื่นแสดงรายได้ประจำปีกับสรรพากรเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นในส่วนของบุคคลธรรมดา โดยเราจะยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งเอกสารนี้คนละตัวกับเอกสารที่บริษัทใช้ยื่นนะคะ

ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 คือ แบบแสดงรายการเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีที่เรามีรายได้หลายทางจะใช้แบบ ภ.ง.ด. 90

แต่กรณีที่เราเงินได้ที่มาจากเงินเดือน หรือ เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1) อย่างเดียว จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ค่ะ

ทุกๆปี เรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 ให้กับสรรพากร ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีค่ะ หรือ สามารถยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ได้จะขยายระยะเวลาไปอีก 8 วัน

ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด. 90
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด. 90
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด. 91
ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด. 91

ข้อดีของการจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง

1.แยกกระเป๋าสตางค์ธุรกิจกับส่วนตัว

การจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเอง เป็นการแบ่งเงินจากการทำธุรกิจออกมาให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการจ่ายเงินที่ถูกต้อง และยังทำให้เรารู้ด้วยว่าจะได้รับเงินจากการทำธุรกิจต่อเดือนเท่าไหร่ พร้อมกับเงินเดือนที่ได้รับก็ยังทำให้เราแยกกระเป๋าสตางค์ธุรกิจกับส่วนตัวได้ โดยเงินที่ได้รับก็ไม่ได้ปนกันระหว่างเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวอีกด้วยค่ะ

2.ประหยัดภาษี

การจ่ายเงินเดือนตามจริงช่วยให้บริษัทประหยัดภาษี เพราะว่าเงินเดือนถือเป็นค่าใช้จ่ายไปหักออกจากรายได้ตั้งแต่ต้น ทำให้จ่ายภาษีบริษัทลดลง

แต่ถ้าไม่จ่ายเงินเดือน แล้วบริษัทผลประกอบการไปได้สวย กำไรเยอะ สะสมทบไปทุกๆ ปี เมื่ออยากดึงเงินออกมาใช้ ทำให้บริษัทต้องจ่ายปันผล ซึ่งการจ่ายเงินปันผลนี้ ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทนะคะ

นั่นหมายความว่า ตอนแรกที่มีกำไร บริษัทจ่ายภาษีก้อนแรกไปแล้วเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ครั้ง และคราวถัดมาจ่ายปันผลต้อง หัก ณ ที่จ่าย อีก 10% ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนว่าบริษัทจ่ายภาษีก้อนแรกสูงไป แล้วยังต้องมาหัก ณ ที่จ่ายก้อนที่สองเพิ่มอีก (ในมุมมองของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)

3.กำหนดค่าใช้จ่ายของบริษัท

การให้เงินเดือนตัวเอง ก็ยังช่วยให้รู้ว่าเดือนๆหนึ่ง บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายอะไร เกิดขึ้นเท่าไหร่บ้าง หรือพูดง่ายๆเลย เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้เรารู้กำไรขาดทุนที่แท้จริง และที่สำคัญเราจะวางแผนคาดการณ์เรื่องรายรับ-รายจ่ายธุรกิจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเดือนเจ้าของธุรกิจค่ะ เมื่อทำธุรกิจแล้ว เจ้าของธุรกิจ เงินเดือนจ่ายให้ตัวเองไม่ผิด แต่ต้องทำความเข้าใจว่าเงินเดือนที่จ่ายนั้นไม่เกินสมควรเพราะจะมีประเด็นภาษี และที่สำคัญจ่ายไปแล้วอย่าลืม ทำบัญชี ยื่นภาษีให้เรียบร้อยด้วยนะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

บล็อกความรู้ด้านบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้ “บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์สำหรับคนทำธุรกิจ"