เป็นเจ้าของกิจการนี่แสนลำบาก นอกจากจะต้องดูธุรกิจแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การดูแลชีวิตตัวเอง ให้สุขภาพดี ไม่ให้เจ็บ หรือตาย เพราะชีวิตของพนักงานทั้งหลายอยู่ในมือเจ้าของธุรกิจอย่างเรานี่ล่ะค่ะ
ทีนี้ถ้าถามว่าเราจะดูแลชีวิตตัวเองยังไงได้บ้าง ถ้าคิดย้อนไปถึงสมัยที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เรามักได้ยินคำว่า ประกันสังคมกันบ่อยๆ แต่เคยสงสัยกันไหมคะ ว่าถ้าเราทำงานใน “ฐานะเจ้าของธุรกิจ” จะทําประกันสังคมได้ไหม เพราะงานก็ทำ 24/7 ทุ่มเทมากกว่าพนักงาน แถมยังได้เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานบางคนเสียอีก
ในวันนี้ Zero to Profit จะพาเพื่อนๆ มาหาคำตอบกันค่ะ ว่าเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม มีอะไรที่ต้องเข้าใจบ้าง
ประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40 ต่างกันอย่างไร
ก่อนอื่น อยากชวนเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจเรื่องสิทธิประกันสังคมตามกฎหมายกันก่อนค่ะ ว่าจริงๆ แล้วสิทธิ์ประกันสังคมเนี่ย มีหลายรูปแบบดังนี้ค่า
1. ภาคบังคับ [มาตรา 33]
กรณีนี้หมายถึง สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับลูกจ้างมนุษย์เงินเดือน ที่กฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม และนำส่งเงินสมทบให้นะ ไม่งั้นมีเคือง แถมยังผิดกฎหมายอีกด้วย
ลูกจ้างทุกคน ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ได้รับค่าจ้างจากสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป เรียกกันโดยสามัญว่า มาตรา 33 (ยื่นประกันสังคม 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท)
2. ภาคสมัครใจ
2.1 ผู้ที่ลาออกจากงาน เคยยื่นประกันสังคม มาตรา 33 มาก่อน [มาตรา 39]
กรณีนี้จะเป็นประกันสังคมสำหรับคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน เข้าระบบมาตรา 33 มาก่อนค่ะ
เมื่อออกจากงาน ไม่ได้ทำงานที่บริษัทใดต่อ แต่ต้องการส่งประกันสังคมเพื่อรับสวัสดิการรัฐ ส่วนนี้เราสามารถเลือกเข้า มาตรา 39 ยื่นเงินประกันสังคม เดือนละ 432 บาท แต่ต้องสมัครภายใน 6 เดือนหลังจากลาออก
2.2 กลุ่มงานอิสระ กลุ่มนี้ ไม่เคยยื่นมาตรา 33 หรือ ยื่นแล้วแต่ไม่ได้เข้า มาตรา 39 ในทันที
พ่อค้า แม่ค้า ฟรีแลนซ์ ที่ต้องการเข้าระบบประกันสังคม สามารถสมัครได้ ในมาตรา 40 เลือกจ่ายได้ 3 แบบ คือ จ่ายเดือนละ 70 บาท, จ่ายเดือนละ 100 บาท และจ่ายเดือนละ 300 บาท
สรุปความแตกต่าง ค่าสมทบประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40
- มาตรา 33 เป็นภาคบังคับ ที่ลูกจ้างต้องจ่าย โดยสมทบ 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท
- มาตร 39 เป็นภาคสมัครใจ ของลูกจ้างที่เพิ่งลาออกจากงาน สมัครใจส่งประกันสังคมเอง ยื่นเดือนละ 432 บาท
- มาตร 40 เป็นภาคสมัครใจ ของอาชีพอิสระ เลือกยื่นได้ 3 แบบ คือ เดือนละ 70 บาท, เดือนละ 100 บาท และเดือนละ 300 บาท
อ่านเพิ่มเติม เงินประกันสังคม หักเท่าไหร่
เจ้าของกิจการคือใคร ทำประกันสังคมได้ไหม?
สำนักงานประกันสังคมนิยามความหมายของ ‘ผู้ประกันตน’ ว่า คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า นายจ้าง ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันตนมาตรา 33 ได้
หน้าที่นายจ้าง คือ หักเงิน และสมทบเงินเข้าประกันสังคมให้ลูกจ้าง
ฉะนั้นหากเป็นเจ้าของกิจการ หรือนายจ้าง ก็ไม่ต้องส่งประกันสังคมมาตรา 33 เพราะ
นายจ้างนั้น ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบหรือข้อบังคับของกิจการ ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถือว่าเป็นนายจ้างแน่ๆ คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการนั่นเอง ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนน้อยๆไม่มีสาระสำคัญ ก็ต้องมาพิจารณาเงื่อนไขการทำงานข้ออื่นๆร่วมด้วย
‘พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 ระบุว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
เจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม มาตราไหนได้บ้าง?
แม้สำนักงานประกันสังคมจะระบุไว้ว่า เจ้าของกิจการไม่ต้องยื่นประกันสังคมเป็น ‘ผู้ประกันตน’ แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจก็มีหลายรูปแบบ มาดูกันดีกว่าว่า เจ้าของธุรกิจยื่นประกันสังคมมาตราไหน ได้บ้าง
ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ทำงานในฐานะลูกจ้าง ได้รับเงินเดือนประจำจากบริษัท
- เข้าระบบส่งประกันสังคมมาตรา 33 ได้
เจ้าของธุรกิจ ที่เพิ่งลาออกจากงานประจำมาทำเอง
- ไม่สามารถส่งประกันสังคมมาตรา 33 ได้ แต่ส่งประกันสังคมมาตรา 39 ได้
ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ ไม่เคยเข้าระบบประกันสังคมมาก่อน
- อาชีพอิสระ มองเป็นนายตัวเองได้เช่นกัน กลุ่มอาชีพนี้สามารถส่งประกันสังคมได้ในมาตรา 40
ข้อควรรู้ เงินสมทบประกันสังคม สามารถขอลดหย่อนภาษีได้
เงินสมทบประกันสังคม ที่เราส่งแต่ละเดือน สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีประจำปีได้ โดยกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผู้มีรายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน สามารถนำเงินสมทบมาคำนวณลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 5,184 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 3,600 บาท
ฉะนั้นเจ้าของธุรกิจ หากส่งประกันสังคมด้วย ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นเดียวกัน
สรุปเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม?
หลักการพิจารณาว่าเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม และถ้าได้เราจะเข้าระบบประกันสังคมตามมาตราอะไรดีนะ เริ่มต้นจากการเปรียบเทียบเงื่อนไขของประกันสังคมมาตรา 33 , 39 และ 40 กันก่อนค่ะ
กรณีที่ยังถือเป็นลูกจ้างอยู่ จะอยู่ในบังคับขึ้นทะเบียนนำส่งประกันสังคมตามมาตรา 33
แต่สำหรับคนที่หมดวาระในฐานะลูกจ้างแล้ว มีทางเลือกให้เลือกว่าจะเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 39 หรือ 40 ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมเช็ก พิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิ์จากสวัสดิการภาครัฐนะคะ
และสำหรับใครที่สงสัยต่อว่า อ่าว…แล้วถ้าเป็นกรรมการจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมไหม แนะนำไปอ่านบทความนี้ เพื่อไขข้อข้องใจต่อได้เลย: กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม เช็กยังไง ต้องเข้าใจอะไรบ้าง
อยากขึ้นทะเบียนนายจ้าง ลูกจ้างประกันสังคม หรือยื่นประกันสังคมออนไลน์ ไม่รู้จะเริ่มยังไง ติดต่อ
Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit