เจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม

เจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม ประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40 ต่างกันยังไง

เป็นเจ้าของกิจการนี่แสนลำบาก นอกจากจะต้องดูธุรกิจแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การดูแลชีวิตตัวเอง ให้สุขภาพดี ไม่ให้เจ็บ หรือตาย เพราะชีวิตของพนักงานทั้งหลายอยู่ในมือเจ้าของธุรกิจอย่างเรานี่ล่ะค่ะ

ทีนี้ถ้าถามว่าเราจะดูแลชีวิตตัวเองยังไงได้บ้าง ถ้าคิดย้อนไปถึงสมัยที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เรามักได้ยินคำว่า ประกันสังคมกันบ่อยๆ แต่เคยสงสัยกันไหมคะ ว่าถ้าเราทำงานใน “ฐานะเจ้าของธุรกิจ” จะทําประกันสังคมได้ไหม เพราะงานก็ทำ 24/7 ทุ่มเทมากกว่าพนักงาน แถมยังได้เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานบางคนเสียอีก

ในวันนี้ Zero to Profit จะพาเพื่อนๆ มาหาคำตอบกันค่ะ ว่าเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม มีอะไรที่ต้องเข้าใจบ้าง

ประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40 ต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่น อยากชวนเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจเรื่องสิทธิประกันสังคมตามกฎหมายกันก่อนค่ะ ว่าจริงๆ แล้วสิทธิ์ประกันสังคมเนี่ย มีหลายรูปแบบดังนี้ค่า

1. ภาคบังคับ [มาตรา 33]

กรณีนี้หมายถึง สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับลูกจ้างมนุษย์เงินเดือน ที่กฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม และนำส่งเงินสมทบให้นะ ไม่งั้นมีเคือง แถมยังผิดกฎหมายอีกด้วย

ลูกจ้างทุกคน ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ได้รับค่าจ้างจากสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป เรียกกันโดยสามัญว่า มาตรา 33 (ยื่นประกันสังคม 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท)

2. ภาคสมัครใจ

2.1 ผู้ที่ลาออกจากงาน เคยยื่นประกันสังคม มาตรา 33 มาก่อน [มาตรา 39]

กรณีนี้จะเป็นประกันสังคมสำหรับคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน เข้าระบบมาตรา 33 มาก่อนค่ะ

เมื่อออกจากงาน ไม่ได้ทำงานที่บริษัทใดต่อ แต่ต้องการส่งประกันสังคมเพื่อรับสวัสดิการรัฐ ส่วนนี้เราสามารถเลือกเข้า มาตรา 39 ยื่นเงินประกันสังคม เดือนละ 432 บาท แต่ต้องสมัครภายใน 6 เดือนหลังจากลาออก

2.2 กลุ่มงานอิสระ กลุ่มนี้ ไม่เคยยื่นมาตรา 33 หรือ ยื่นแล้วแต่ไม่ได้เข้า มาตรา 39 ในทันที

พ่อค้า แม่ค้า ฟรีแลนซ์ ที่ต้องการเข้าระบบประกันสังคม สามารถสมัครได้ ในมาตรา 40 เลือกจ่ายได้ 3 แบบ คือ จ่ายเดือนละ 70 บาท, จ่ายเดือนละ 100 บาท และจ่ายเดือนละ 300 บาท

สรุปความแตกต่าง ค่าสมทบประกันสังคม มาตรา 33 39 และ 40

  • มาตรา 33 เป็นภาคบังคับ ที่ลูกจ้างต้องจ่าย โดยสมทบ 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท
  • มาตร 39 เป็นภาคสมัครใจ ของลูกจ้างที่เพิ่งลาออกจากงาน สมัครใจส่งประกันสังคมเอง ยื่นเดือนละ 432 บาท
  • มาตร 40 เป็นภาคสมัครใจ ของอาชีพอิสระ เลือกยื่นได้ 3 แบบ  คือ เดือนละ 70 บาท,  เดือนละ 100 บาท และเดือนละ 300 บาท

อ่านเพิ่มเติม เงินประกันสังคม หักเท่าไหร่ 

เจ้าของกิจการคือใคร ทำประกันสังคมได้ไหม?

เจ้าของกิจการคือใคร
เจ้าของกิจการคือใคร

สำนักงานประกันสังคมนิยามความหมายของ ‘ผู้ประกันตน’ ว่า คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า นายจ้าง ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันตนมาตรา 33 ได้

หน้าที่นายจ้าง คือ หักเงิน และสมทบเงินเข้าประกันสังคมให้ลูกจ้าง

ฉะนั้นหากเป็นเจ้าของกิจการ หรือนายจ้าง ก็ไม่ต้องส่งประกันสังคมมาตรา 33 เพราะ
นายจ้างนั้น ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบหรือข้อบังคับของกิจการ ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถือว่าเป็นนายจ้างแน่ๆ คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการนั่นเอง ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนน้อยๆไม่มีสาระสำคัญ ก็ต้องมาพิจารณาเงื่อนไขการทำงานข้ออื่นๆร่วมด้วย

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 ระบุว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

เจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม มาตราไหนได้บ้าง?

เจ้าของกิจการ ทำประกันสังคมได้ไหม
เจ้าของกิจการ ทำประกันสังคมได้ไหม

แม้สำนักงานประกันสังคมจะระบุไว้ว่า เจ้าของกิจการไม่ต้องยื่นประกันสังคมเป็น ‘ผู้ประกันตน’ แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจก็มีหลายรูปแบบ มาดูกันดีกว่าว่า เจ้าของธุรกิจยื่นประกันสังคมมาตราไหน ได้บ้าง

ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ทำงานในฐานะลูกจ้าง ได้รับเงินเดือนประจำจากบริษัท

  • เข้าระบบส่งประกันสังคมมาตรา 33 ได้

เจ้าของธุรกิจ ที่เพิ่งลาออกจากงานประจำมาทำเอง

  • ไม่สามารถส่งประกันสังคมมาตรา 33 ได้ แต่ส่งประกันสังคมมาตรา 39 ได้

ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ ไม่เคยเข้าระบบประกันสังคมมาก่อน

  • อาชีพอิสระ มองเป็นนายตัวเองได้เช่นกัน กลุ่มอาชีพนี้สามารถส่งประกันสังคมได้ในมาตรา 40

ข้อควรรู้ เงินสมทบประกันสังคม สามารถขอลดหย่อนภาษีได้

เงินสมทบประกันสังคม ที่เราส่งแต่ละเดือน สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีประจำปีได้ โดยกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผู้มีรายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน สามารถนำเงินสมทบมาคำนวณลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 5,184 บาท
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง สูงสุดไม่เกิน 3,600 บาท

ฉะนั้นเจ้าของธุรกิจ หากส่งประกันสังคมด้วย ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นเดียวกัน

สรุปเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม?

หลักการพิจารณาว่าเจ้าของกิจการ ทําประกันสังคมได้ไหม และถ้าได้เราจะเข้าระบบประกันสังคมตามมาตราอะไรดีนะ เริ่มต้นจากการเปรียบเทียบเงื่อนไขของประกันสังคมมาตรา 33 , 39 และ 40 กันก่อนค่ะ

กรณีที่ยังถือเป็นลูกจ้างอยู่ จะอยู่ในบังคับขึ้นทะเบียนนำส่งประกันสังคมตามมาตรา 33

แต่สำหรับคนที่หมดวาระในฐานะลูกจ้างแล้ว มีทางเลือกให้เลือกว่าจะเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 39 หรือ 40 ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมเช็ก พิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิ์จากสวัสดิการภาครัฐนะคะ

และสำหรับใครที่สงสัยต่อว่า อ่าว…แล้วถ้าเป็นกรรมการจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมไหม แนะนำไปอ่านบทความนี้ เพื่อไขข้อข้องใจต่อได้เลย: กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม เช็กยังไง ต้องเข้าใจอะไรบ้าง

อยากขึ้นทะเบียนนายจ้าง ลูกจ้างประกันสังคม หรือยื่นประกันสังคมออนไลน์ ไม่รู้จะเริ่มยังไง ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit



ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง