สินค้าล้นสต๊อก: เงินจมแบบนี้ ต้องจัดการยังไง

สินค้าล้นสต๊อก: เงินจมแบบนี้ ต้องจัดการยังไง

สินค้าล้นสต๊อก ไม่ใช่ปัญหาใหม่ของธุรกิจ แต่เป็นปัญหาที่ท้าทายสุดๆ ที่เจ้าของธุรกิจทั้งมือใหม่และเก่าต้องเผชิญ แน่นอนว่าการถือสินค้าไว้ในมือเยอะๆ แม้มันจะเป็นสินทรัพย์ (นำเงินกลับมาสู่กระเป๋าเมื่อไรก็ได้) แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ติดตามมาด้วยเช่นกันค่ะ

ถ้าวันนี้ใครกำลังเจอปัญหาสินค้าล้นมือแบบนี้ ลองมาทำความเข้าใจ เรียนรู้เทคนิคดีๆ ในการจัดการสินค้าส่วนเกินกับ Zero to Profit กัน

อ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจ ได้ที่นี่ ซ่อน

สินค้าล้นสต๊อกคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง?

สินค้าคงเหลือล้นสต๊อก หรือ Excess Stock หมายความว่า ธุรกิจมีจำนวนสินค้าคงเหลือเกินความต้องการหรือยอดขายที่คาดว่าจะขายได้ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การจัดการสินค้าคงคลังที่ไม่ดี การพยากรณ์การขายที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มตลาด หรือการผลิตมากเกินไป

ถ้าเรามีสินค้ามากเกินไป นักบัญชีอาจเขม่น เพราะว่ามันส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และกำไรลดลงในงบการเงินค่ะ ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสินค้ามากเวอร์ ได้แก่

1. ค่าพื้นที่ 

การมีสต๊อกในปริมาณที่มากย่อมหมายถึงค่าพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าของคลังสินค้าเอง หรือไปเช่าพื้นที่เพื่อเก็บสินค้า ทุกๆ ตารางเมตรที่เราใช้ ย่อมมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่เสมอ ทั้งค่าไฟ ค่าระบบรักษาความปลอดภัย พนักงานคลังสินค้า และยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ผลไม้แช่แข็งต้องเก็บที่เย็นพิเศษ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างค่าห้องเย็น เป็นต้น

2. ค่าประกันภัย

ถ้าอยากคุ้มครองความเสี่ยงสินค้า ทั้งจากน้ำท่วม ไฟไหม้ หรือโรงงานถล่ม ก็ต้องยอมจ่ายค่าประกันภัยสินค้าเหล่านี้ไว้ก่อน ซึ่งปัจจัยหลักที่กำหนดว่าเราต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยสินค้ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับมูลค่าสินค้าคงเหลือ ถ้าหากมูลค่าสินค้าคงเหลือมีปริมาณสูงมาก แน่นอนว่าค่าเบี้ยประกันภัยก็ต้องสูงไปตามๆ กัน

3. ค่าทำบัญชีและการตรวจสอบ

รู้หรือไม่ว่าค่าบัญชี นักบัญชีมักคิดจากเวลาที่ใช้และความยากง่ายในการทำงานของพวกเค้า และยิ่งเจ้าของกิจการมีสต๊อกสินค้าคงเหลือจำนวนมากๆ นักบัญชีก็ยิ่งมีงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีก็อาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงตอนปลายปีก็ต้องมีการตรวจสอบและนับสินค้าคงเหลือ ยิ่งถ้ามีสินค้าเก็บไว้ในหลายสถานที่ ก็เสียค่าใช้จ่ายและเวลาไม่ใช่น้อย

4. ขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ 

สินค้าค้างสต๊อก เมื่อเวลาผ่านไปอาจเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุ ไม่สามารถขายให้ลูกค้าได้ หรือในบางครั้งต้องยอมตัดใจขายแบบขาดทุน คำว่าขาดทุนในที่นี้คำนวณจากสูตรนี้ 

ขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ = ต้นทุนสินค้า – ราคาซากที่ขายได้ 

การขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายเช่นกัน ยิ่งสินค้าบางชนิดเสื่อมสภาพมากๆ ขายราคาซากไม่ได้ นอกจากจะขาดทุนเต็มจำนวนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการจ้างทำลายสินค้าเพิ่มเติมอีกต่างหาก  

สินค้าล้นสต๊อกน่ากลัวยังไง
สินค้าล้นสต๊อกน่ากลัวยังไง

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ รวมกับเงินที่ต้องจมในสต๊อกสินค้า ส่งผลให้กระแสเงินสดของกิจการลดลงด้วยโดยปริยาย (แหม่…นอกจากกำไรลด เงินสดยังขาดมืออีก แบบนี้ต้องตีให้ตายเลย) ภาษาชาวบ้านจึงเรียกว่า เงินจมในสินค้าที่แท้ทรู

เทคนิคจัดการสินค้าล้นคลัง ทำยังไงบ้าง?

1. วิเคราะห์สินค้าคงเหลือก่อน

ถ้าอยากจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์รายงานสินค้าคงเหลือ ณ ปัจจุบันเสียก่อน และตอบคำถามดังต่อไปนี้

  • สินค้าไหนขายดี
  • สินค้าไหนขายไม่ดี
  • สินค้าไหนมีมากเกินไป

การวิเคราะห์สินค้าแบบนี้ จะช่วยบอกสาเหตุของสินค้าส่วนเกิน เพื่อวางแผนจัดการกับปัญหา

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ เราสามารถต่อยอดไปวางแผนเรื่องการจัดซื้อและระดับการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าล้นคลังในอนาคตได้ด้วย

2. ใช้ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง

โปรแกรม หรือ ระบบที่ช่วยจัดการสินค้าคงเหลือนั้น มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสแกนบาร์โค้ด ซอฟต์แวร์การจัดการสินค้าคงคลัง และระบบ RFID ไม่ว่าจะเลือกใช้ระบบไหน ระบบสินค้าที่ดีควรจะทำสิ่งนี้ให้ได้เป็นอย่างน้อย

  • ช่วย Tracking จำนวนสินค้า
  • แสดงรายงานสินค้าคงเหลือแบบ Real-time


โปรแกรมจัดการสินค้าที่มีประสิทธิภาพจะช่วยทุ่นแรงในการเช็คระดับสินค้าคงคลัง คาดการณ์ความต้องการ และลดปัญหาสินค้าล้นสต๊อกได้จ้า

3. เสนอส่วนลด ทำโปรโมชั่น

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยจัดการสินค้าส่วนเกิน คือ การเสนอส่วนลดและโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อรู้ว่าสินค้ากำลังจะล้น และต้องแบกต้นทุนอันหนักอึ้ง การทำส่วนลดและโปรโมชั่นเป็นทางออกที่ดีในการระบายสินค้า และนอกจากนี้ยังช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ เช่น ซื้อ 1 ฟรี 1, ซื้อเป็นชุดล้นเพิ่มขึ้น, ซื้อตอนนี้ฟรีค่าส่ง เป็นต้น

4. ขายสินค้าล้างสต๊อกราคาถูก

ถ้ามีสินค้าส่วนเกินจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ให้ตัดใจซะ แล้วขายแบบลดล้างสต๊อกไปอาจจะดีกว่าเก็บสินค้าไว้ให้ช้ำใจเปล่าๆ เทคนิคนี้อาจทำให้เรากำไรลดลง (ถ้าอดีตขายจนถึงจุดคุ้มทุนแล้ว) หรืออาจทำให้ขาดทุน แต่เราต้องยอมเสียน้อยดีกว่าเสียมาก เพื่อรักษากิจการไว้ให้อยู่รอด

เทคนิค ลองถามคู่ค้ารายใหญ่ของเราก่อน เผื่อว่าพวกเค้าต้องการสินค้าแบบยกล๊อต แบบ B2B ถ้าเป็นเช่นนี้อาจช่วยลดความเจ็บปวดและประหยัดเวลาในการเร่ขายสินค้าได้ดีขึ้น

5. บริจาคให้องค์กรการกุศล

การบริจาคสินค้าส่วนเกิน (ที่ยังดีอยู่) ให้กับองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารอาหาร ที่พักอาศัย หรือโรงเรียน สามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการประชาสัมพันธ์เชิงบวกสำหรับธุรกิจได้อีกด้วย เสมือนเป็นกลยุทธ์กำจัดสินค้าแบบ win-win เลยทีเดียว

5 วิธีจัดการสต๊อกล้น
5 วิธีจัดการสต๊อกล้น

ป้องกันสินค้าล้นสต๊อกทำได้อย่างไรบ้าง

เมื่อผิดพลาดแล้วก็ต้องเรียนรู้จากอดีต ปัญหาสต๊อกสูงเกินไปจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราทำ 2 สิ่งนี้

1. คาดการณ์ความต้องการสินค้าอย่างแม่นยำ

การคาดการณ์ความต้องการสินค้าที่แม่นยำเพียงพอ จะช่วยปรับระดับการผลิตและระดับสินค้าคงคลังให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงได้ค่ะ

มีวิธีการคาดการณ์ความต้องการสินค้าที่นิยมใช้ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต การวิเคราะห์แนวโน้มตลาด และการสำรวจลูกค้า เพื่อนๆสามารถประยุกต์ใช้วิธีการเหล่านี้ร่วมกันเพื่อแผนความต้องการสินค้าได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

2. ปรับกลยุทธ์การขายและการตลาด

กลยุทธ์การขายและการตลาดที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้มีสินค้าเหลือเยอะเกินไป เพราะลูกค้ามีความต้องการที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย หรือว่าทำการตลาดเฉพาะเจาะจงก็มีส่วนช่วยระบายสินค้าล้นคลังได้ทั้งนั้น

แก้ปัญหาสต๊อกล้นทำอย่างไร
แก้ปัญหาสต๊อกล้นทำอย่างไร

คำถามที่พบบ่อย

ถาม: สินค้าคงส่วนเกินคืออะไร?

ตอบ: สินค้าคงส่วนเกิน หมายถึง จำนวนสินค้าคงคลังที่เกินความต้องการหรือการจำนวนการขาดที่คาดการณ์ไว้

ถาม: เหตุใดสินค้าส่วนเกินจึงเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจ?

ตอบ: สินค้าคงส่วนเกิน นำไปสู่ต้นทุนการเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดลดลง อัตรากำไรลดลง สินค้าล้าสมัยและเน่าเสียเป็นค่าใช้จ่ายในธุรกิจ นอกจากนี้สินค้าส่วนเกินยังทำให้เสียพื้นที่จัดเก็บด้วย

ถาม: ธุรกิจจะจัดการสินค้าส่วนเกินได้อย่างไร

ตอบ: เริ่มต้นการวิเคราะห์สินค้าคงเหลือเสียก่อน, ใช้ระบบการจัดการสินค้า, เสนอส่วนลดและโปรโมชั่น, ขายยกล็อกสำหรับสินค้าส่วนเกิน, บริจาคให้กับองค์กรการกุศล, คาดการณ์ความต้องการอย่างแม่นยำ, และปรับปรุงกลยุทธ์การขายและการตลาด

สรุป

แม้ว่าปัญหาการจัดการสินค้าล้นสต๊อกจะไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาราคาแพงที่เจ้าของธุรกิจต้องตื่นตัว หาวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพราะนี่คือบททดสอบที่สำคัญสำหรับการบริหารธุรกิจทั้งในรูปแบบซื้อมา-ขายไป และธุรกิจผลิตสินค้า

ถ้าทำธุรกิจแล้วมีสต๊อก อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยนะคะ

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ