การรับและจ่ายเงินเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาที่แอบแฝงอยู่ในทุกๆ การจ่ายเงินนั้น คือ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย”
เจ้าของธุรกิจต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการหัก ณ ที่จ่าย เราลองมาทำความเข้าใจแบบง่ายๆ กัน
สองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาษีตัวนี้ คือ
1.ผู้จ่ายเงิน
2.ผู้รับเงิน
ถ้าเราเข้าใจว่า แต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง เราก็จะ get idea ภาษีตัวนี้ขึ้นมาทันทีเลยล่ะ Zero to Profit ขอแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆ แบบนี้
1.การจ่ายเงิน
ทุกครั้งที่จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงิน ต้อง “หัก ณ ที่จ่าย” ถ้ารายจ่ายเป็นรายจ่ายที่กฎหมายบังคับให้หัก ณ ที่จ่าย เราก็อย่าลืมหัก ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อย เช่น
จ่ายค่าบริการ กฎหมายบอกว่าให้หัก ณ ที่จ่าย 3% จ่ายไป 1,000 บาท ชักเงินไว้ 3% คือ 30 บาท คนรับเงินจะได้เงิน 970 บาท
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกับคนรับเงินดีๆ ว่า ผู้ที่รับเงิน จะเป็นคน “ถูกหัก” ณ ที่จ่ายนะ ฉะนั้น ถ้าอยากทำธุรกิจกับเราต้องถูกหักภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
2.เอกสาร
เอกสารที่ผู้จ่ายเงินต้องออก คือ “หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งเป็นเอกสารที่รับรองว่าผู้จ่ายเงิน ได้หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้จริงๆ นะ (ไม่ได้ฮุบเงินไว้)
ในส่วนของคนรับเงิน ก็จะต้องขอหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายจากผู้จ่ายเงินด้วย
วิธีการออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายแบบง่ายๆ ไปศึกษาต่อได้ที่นี่เลย
3.ยื่นแบบ
ข้อสุดท้ายการยื่นแบบ ถ้าเราเป็นผู้จ่ายเงิน หัก ณ ที่จ่ายเสร็จต้องยื่นแบบภาษีให้เรียบร้อย โดยที่แบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัด แต่ถ้ายื่นแบบออนไลน์ก็บวกเพิ่มไปได้อีก 7 วัน
และนอกจากนี้อย่าลืมทำบัญชีพิเศษ รวบรวมรายละเอียดการหัก ณ ที่จ่ายในแต่ละวันไว้ให้เรียบร้อยด้วย
ส่วนฝั่งผู้รับเงิน ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ขอหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ลำดับถัดไป นั่ง Time Machine ไปรอเครดิตภาษีตอนปลายปีได้เลย แต่ถ้าเราโดนหัก ณ ที่จ่ายแต่ไม่เก็บเอกสารหรือไม่กรอกเครดิตภาษีให้เรียบร้อย รับรองว่าชวดได้เงินคืนหรือว่าอดใช้สิทธิ์เครดิตภาษีแน่นอน
พอจะเข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบของทั้งฝั่งคนจ่ายเงิน และคนรับเงินไปแล้วว่ามีหน้าที่ 3 เรื่องหลักๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ
ต่อไปนี้ถ้าคิดจะจ่ายเงิน อย่าลืมเช็คเรื่องการหัก ณ ที่จ่ายให้เรียบร้อยด้วย แล้วจะรู้ว่า อ๋อ มันก็แค่นี้เอง ไม่เห็นจะยากเลย
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit