9 เรื่องต้องเช็คก่อนจ่ายค่าทำบัญชี

9 เรื่องต้องเช็คก่อนจ่ายค่าทำบัญชี

ถ้าความรู้บัญชีเป็น 0 จะรู้ได้อย่างไรว่านักบัญชีทำงานครบ ปัญหาระดับชาติของเจ้าของธุรกิจ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าค่าทำบัญชีที่จ่ายไปนั้นจะได้งานกลับมาจริง

วันนี้ Zero to Profit ขออาสาช่วยทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก….ไม่ใช่สิ ทำเรื่องยากให้ง่ายขึ้น ก่อนจะจ่ายเงินค่าทำบัญชีมีอะไรที่เจ้าของธุรกิจต้องเช็คบ้างถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันเล้ย

ค่าทำบัญชีประจำเดือนต่างกับประจำปียังไง?

โดยปกติแล้ว งานบัญชีแบ่งออกเป็นงานที่ทำประจำเดือน และทำเป็นประจำทุกปี หรือที่หลายคนมักเรียกติดปากว่า “ปิดบัญชี” ค่ะ ทำให้นักบัญชีส่วนใหญ่ก็มักจะเรียกเก็บค่าทำบัญชีแยกกันเป็น 2 ส่วน

ทีนี้การทำบัญชีรายเดือนมันคืออะไร ต่างกับปิดบัญชีประจำปีอย่างไร ผลงานที่ควรได้รับจากนักบัญชีนั้นหลักๆ มีอะไรบ้าง เราลองมาดูกัน

ทำบัญชีรายเดือนต่างกับรายปียังไง
ทำบัญชีรายเดือนต่างกับรายปียังไง

พอจะเข้าใจประเภทของงานบัญชีประจำเดือนและประจำปีกันแล้ว ถัดมาเราลองมาดูกันนะ ว่าในทุกๆ ปีก่อนที่เราจะจ่ายเงินก้อนใหญ่ค่าปิดบัญชี เจ้าของธุรกิจควรเช็กเรื่องเกี่ยวกับบัญชีภาษีอะไรบ้าง?

1. ยื่นชื่อครบ

ถ้าทำธุรกิจในรูปแบบบริษัท สองคนที่ขาดไม่ได้ในเรื่องของบัญชีและการยื่นงบตามกฎหมาย ก็คือ

– นักบัญชี = คนบันทึกบัญชี และทำงบการเงิน

– ผู้สอบบัญชี = คนตรวจสอบงบการเงินที่นักบัญชีทำมาอีกที

ทั้ง 2 คนนี้เมื่อเราตกลงปลงใจจ้างงานเค้าแล้ว อย่าลืมเช็คให้มั่นใจว่าทั้งนักบัญชีและผู้สอบบัญชีได้ยืนยันรายชื่อธุรกิจกับหน่วยงานรัฐเรียบร้อยว่าพวกเค้าจะทำงานให้เราสำหรับปีนี้

หลักฐานการยืนยันรายชื่อของทั้ง 2 คนนี้ จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า พวกเค้ามีใบประกอบวิชาชีพจริง และเราจะไม่ถูกแกงหรือแอบอ้างจากคนที่ไม่มีคุณสมบัติมาทำงานให้โดยไม่รู้ตัว

2. บันทึกบัญชีครบถ้วน

นักบัญชีต้องบันทึกบัญชีในสมุดบัญชี 5 เล่มอย่างครบถ้วน สมุดบัญชีทั้ง 5 เล่มนี้ในบางครั้งเราเรียกรวมๆ กันว่า บัญชีแยกประเภท

โดยปกติแล้วถ้านักบัญชีบันทึกบัญชีให้เราเป็นประจำ พวกเค้าจะมีรายการบัญชีเตรียมไว้ให้เราอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบ electronic หรือแบบกระดาษก็แล้วแต่ความสะดวก

ถ้าเราไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเอง การขอให้นักบัญชีส่งข้อมูลเหล่านี้ให้อย่างน้อยทุกปีเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะอย่างน้อยเราก็ยังมีหลักฐานการทำบัญชีบันทึกบัญชีให้กับหน่วยงานรัฐตรวจสอบ

3. รายงานครบถ้วน

ถ้าเราไม่รู้บัญชีแล้วนักบัญชีส่งสมุดบัญชี 5 เล่มมาให้ ก็คงไม่มีวันอ่านมันรู้เรื่องแน่นอน

รายงานทางบัญชี = วุ้นแปลภาษีช่วยให้เจ้าของธุรกิจอ่านสรุปข้อมูลทางบัญชีได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ถ้านักบัญชีบันทึกบัญชีอย่างครบถ้วนแล้ว การสรุปรายงานทั้ง 6 รายงานออกมาก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

ถ้าเราแจ้งนักบัญชีไว้ในสโคปการทำงาน

แต่เจ้าของธุรกิจเองก็ต้องหัดอ่านและทำความเข้าใจกับรายงานพวกนี้ไปด้วย และที่สำคัญรายงานทั้งหมดนี้ควรอ่านทุกๆ เดือนไม่ใช่ทุกๆ ปีนะจะบอกให้

4. แฟ้มภาษีครบ

หน้าที่อันหนักอึ้งที่นักบัญชีต้องทำเพิ่มเติม นอกเหนือจากลงบันทึกบัญชีประจำวัน คือ การทำสรุปยื่นภาษีประจำเดือนและประจำปี

ธุรกิจที่ต่างมีภาษีที่ต้องยื่นแตกต่างกัน ฉะนั้น เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องกับเราในเบื้องต้นก่อนว่าเราเกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง เช่น

– ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = ดูที่ประเภทค่าใช้จ่าย

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ดูที่รายได้

– ภาษีเงินได้นิติบุคคล = เกี่ยวกับบริษัทแน่นอน ต้องยื่นเป็นประจำตอนครึ่งปีและปลายปี

ถ้าเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องแล้วในแฟ้มภาษีที่นักบัญชีรวบรวมมาให้ก็จะต้องมีข้อมูลอย่างน้อยๆ ตามนี้ คือ

– แบบภาษี

– แบบแนบ หรือรายงานภาษี

และที่สำคัญทั้งแบบภาษี และรายละเอียดประกอบจะต้องมียอดรวมตรงกัน

5. ยื่นภาษีครบ

แฟ้มภาษีที่เราทำความเข้าใจไปก่อนหน้านี้จะไม่มีวันมีประโยชน์เลยถ้านักบัญชีไม่ได้ยื่นภาษีให้ และเราไม่ได้จ่ายชำระเงินค่าภาษีให้ครบถ้วนแก่กรมสรรพากร

วิธีการเช็คง่ายๆ ว่าแบบภาษีได้ยื่นครบถ้วนไหม ให้เข้าไปเช็คที่ระบบ E-filing ของสรรพากร

หรือว่าเช็คจากเลขอ้างอิงการยื่นแบบ (ต้องเป็นตัวจริง ห้ามมีลายน้ำ) และใบเสร็จรับเงินที่ปริ้นออกมาจากระบบสรรพากรก็ได้ค่ะ

6. ทำงบครบ

นอกจากรายงานสรุปบัญชีแต่ละเรื่องประจำเดือนแล้ว งบการเงินก็เป็นอีกรายงานนึงที่นักบัญชีต้องทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราตกลงกับนักบัญชีว่าให้ส่งเป็นรายเดือนหรือรายปี

อย่างน้อยงบที่ต้องมี 2 งบ ได้แก่

– งบกำไรขาดทุน

– งบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล)

งบพวกนี้ถ้าให้ดีควรอ่านทุกๆ เดือน ส่วนในทางกฎหมายแล้วงบการเงินต้องทำเป็นอย่างต่ำทุกปี เพื่อส่งให้กับหน่วยงานรัฐบาล

7. ประกาศหนังสือพิมพ์ก่อนประชุมอนุมัติงบ

ข้อนี้เจ้าของธุรกิจน่าจะงงแน่นอนว่าแค่จะประชุมทำไมต้องประกาศหนังสือพิมพ์ก่อนด้วย แต่มันก็เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนด อย่างน้อยทุกบริษัทต้องมีการประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชิญผู้ถือหุ้นประชุมประจำปี เพื่ออนุมัติงบการเงินก่อนส่งให้กับหน่วยงานรัฐนั่นเอง

เรื่องนี้นักบัญชีหรือสำนักงานบัญชีมักจะทำให้เราเป็นปกติอยู่แล้ว เราเพียงแค่ขอหลักฐานการลงประกาศหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้ก็เท่านั้น

ส่วน Timeline ย่อๆ ของการประชุม จะเริ่มต้นจาก งบการเงินเสร็จ > ผู้สอบบัญชีตรวจสอบออกหน้ารายงานให้ > ลงประกาศหนังสือพิมพ์ก่อนประชุม 7 วัน > ประชุมผู้ถือหุ้น > ทำรายงานการประชุม

จากนั้นงบการเงินชุดนี้จึงสามารถเอาไปยื่นให้กับหน่วยงานรัฐได้อย่างสบายใจ

8. ยื่นงบครบ

ต่อเนื่องจากข้อก่อน หลังจากประชุมประจำปีแล้ว งบการเงินของบริษัทจะต้องยื่นให้กับหน่วยงานรัฐ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้เรียบร้อย ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ประชุม

เมื่อก่อนเราต้องยื่นงบสองที่ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร แต่ปัจจุบันระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเค้าเชื่อมต่อกับกรมสรรพากรแล้ว การยื่นงบก็เลยยื่นที่เดียวแบบ one-stop-service ได้เลย

วิธีการเช็คว่างบยื่นครบแล้วไหม เช็คได้จากเอกสารยืนยันการยื่นงบ หรือเช็คออนไลน์จากระบบ e-filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

9. ยื่น บอจ.5 ครบ

บอจ.5 คือ สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น โดยมีรายละเอียด ผู้ถือหุ้นเป็นใคร ถือหุ้นเท่าใด หุ้นราคาเท่าใด และจ่ายชำระแล้วหรือไม่

ในทุกๆ ปีนอกจากจะยื่นงบการเงินแล้ว เราต้องยื่น บอจ. 5 ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย ผ่านระบบ e-filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เดดไลน์การยื่น บอจ.5 คือ ภายใน 14 วันหลังจากประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (ไม่ใช่วันเดียวกับการยื่นงบการเงิน อย่าสับสนนะ)

ส่วนใหญ่แล้วนักบัญชีก็จะทำหน้าที่ยื่นแบบ บอจ.5 ให้กับธุรกิจอยู่แล้ว เราเพียงแค่เช็คว่านักบัญชียื่นครบถ้วนตรงเวลาไหม จากเอกสารการยื่นแบบ บอจ.5 หรือเช็คออนไลน์จากระบบ e-filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ทั้งหมดที่สรุปมานี้ เป็นงานที่ส่วนใหญ่นักบัญชีหรือสำนักงานบัญชีต้องรับผิดชอบอยู่เป็นประจำทุกเดือนและทุกปี หรืออาจจะมากน้อยกว่านี้แล้วแต่ตกลงเป็นเคสๆ ไป

ก่อนจ่ายค่าทำบัญชีลองเช็คดูสักนิดว่าเราได้งานครบถ้วนสมบูรณ์ไหม และถ้านักบัญชีทำได้ครบทั้ง 9 ข้อแบบนี้ พวกเราคงไม่เสียดายค่าใช้จ่ายทำบัญชีอย่างแน่นอน เพราะนอกจากงานจะยากและเยอะแล้ว พวกเค้าเองก็ยังเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยให้งานหลังบ้านเรียบร้อย ธุรกิจไปต่อได้โดยไม่สะดุดอีกด้วย

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ