8 Step คู่มือบัญชีที่คนขายของออนไลน์ต้องรู้

8 Step คู่มือบัญชีที่คนขายของออนไลน์ต้องรู้

แม่ค้าออนไลน์ อาชีพใหม่ที่ใครๆ ก็อยากทำ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ

ถ้าไม่รู้เรื่องบัญชีเลย อาชีพที่คิดว่ารุ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาสารพัด

ปัญหาที่แม่ค้าออนไลน์มักพบกันบ่อย เช่น สต๊อกล้นมือ กำไรไม่เหลือ มีของคืนมารัวๆ หรือแม้แต่กระทั่งปัญหากับพี่สรรพากร

ถ้าวันนี้คุณเป็นแม่ค้าออนไลน์อยู่ แต่หนักใจไม่รู้จะจัดการเรื่องบัญชีอย่างไร Zero to Profit จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจ 8 Step คู่มือบัญชีที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับปัญหาขายของออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน

1. คู่มือบัญชีหน้า 1 แยกบัญชีไว้ก่อนพ่อสอนไว้

ไม่ว่าจะขายของอะไร ร้านเล็กหรือใหญ่ การแยกบัญชีร้านค้าไว้ออกมาจากบัญชีส่วนตัวเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ

วิธีการแยกบัญชีอาจจะเริ่มจากกันเงินลงทุนเอาไว้ 1 ก้อน ใส่บัญชีสำหรับขายของออนไลน์ จากนั้นใช้จ่ายจากบัญชีนี้ เพื่อเตือนใจว่าเงินที่เหลือจากการทำธุรกิจมีเท่าไร และรับเข้า-ออกจากอะไร

ส่วนถ้าใครจดบริษัทแบบจริงจัง การแยกบัญชีเป็นเรื่องที่ต้องทำ (แบบปฏิเสธไม่ได้) โดยเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัทให้เรียบร้อย และให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีนี้ จากนั้นการทำบัญชีหลังบ้านจะง่ายขึ้นอีกเยอะเลย

วิธีเปิดบัญชีนามธุรกิจทำอย่างไร ไปอ่านเพิ่มเติมได้เลย

แยกกระเป๋า บัญชี
แยกกระเป๋า บัญชี

2.จดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน

ถัดมาเรามาดูคู่มือบัญชีหน้าที่ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องของการจดทะเบียนพาณิชย์ค่ะ

การจดทะเบียนพาณิชย์เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ถ้าประกอบการค้าขายเกิดขึ้น

ทะเบียนพาณิชย์จะเป็นคนละเรื่องกับการจดทะเบียนบริษัท หรือจดทะเบีบนภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเราไม่จดบริษัท ไม่ได้จดภาษีมูลค่า จะได้รับยกเว้นการจดทะเบียนพาณิชย์โดยปริยาย

จดทะเบียนพาณิชย์
จดทะเบียนพาณิชย์

จริงๆ แล้ว การจดทะเบียนพาณิชย์มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งบอกว่าเราทำการค้าอะไร ที่ไหน ภายใต้ชื่ออะไรเพียงเท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อเริ่มทำการค้าอย่าลืมไปจดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขต เทศบาลหรือ อบต. ให้เรียบร้อยภายใน 30 วันที่เริ่มประกอบกิจการ ค่าธรรมเนียมก็อยู่ที่ 50 บาทเพียงเท่านั้น

และถ้าใครยังสงสัยว่าจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำอย่างไร อ่านเพิ่มเติมในนี้ได้เลย

3.จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนรายได้ทะลุ 1.8 ล้าน

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่แม่ค้าออนไลน์ทุกคนจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) แต่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า รายได้ของเราเป็นประเภทไหน และเราต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

เพราะเงื่อนไขของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มี 2 เงื่อนไขหลักๆ ตามนี้

  1. เป็นรายได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น เช่น ขายหนังสือออนไลน์ ขายพืชผัก
  2. รายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี
จด VAT
จด VAT

ถ้าเข้าใจประเภทรายได้ และจำนวนรายได้ที่มี แน่นอนว่าเราตัดสินใจได้แน่นอนว่าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไหม

แม่ค้าออนไลน์ที่ตกม้าตายส่วนใหญ่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แล้วไม่ได้จดและส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม สุดท้ายโดนค่าปรับย้อนหลัง เสียทั้งเงินและเวลากว่าจะเคลียร์กับสรรพากรจบ

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำยังไง ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง คลิกอ่านเพิ่มเติมได้เลยจ้า

4.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

แม่ค้าคนไหนที่จดทะเบียนเป็นบริษัทอยู่แล้วไม่น่าเป็นห่วงมาก เพราะการทำบัญชีต้องมีสำนักงานบัญชีดูแล และทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว

แต่ถ้าใครเป็นแม่ค้ามือใหม่ ยอดรายได้ยังไม่เยอะมาก หรืออยู่ในระหว่างเริ่มต้น ยังไม่ได้จดเป็นบริษัท การทำบัญชีรายได้รับ-รายจ่าย เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพื่อให้มั่นใจว่าเรายังมีกำไรในทุกๆ วันที่ทำธุรกิจ

ทำบัญชีรับ-จ่าย
ทำบัญชีรับ-จ่าย

และที่สำคัญการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นหลักฐานชั้นดีในการยื่นภาษีส่วนบุคคลตอนปลายปีด้วยเช่นกัน

วิธีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างไรให้ง่ายและถูกใจสรรพากรดูที่นี่: ทำบัญชีขายของออนไลน์ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

5.คุมสต๊อกสินค้าให้เป็นระบบ

อย่างที่เคยบอกไปว่าสต๊อกสินค้านั้นเป็นปัญหาของแม่ค้าออนไลน์หลายๆ คน เพราะเราลงทุนซื้อสินค้ามาตุนไว้ แต่ในบางครั้งมันก็ไม่ได้ปังอย่างที่คิด หรือในบางทีขายดีมาก ลูกค้า CF รัวๆ แต่แม่ค้าเองไม่รู้ว่าเหลือสต๊อกสินค้าเท่าไร ทำให้เสียโอกาสในการขายถ้าสั่งของมาไว้ไม่เพียงพอ

ควบคุมสต็อกสินค้า
ควบคุมสต็อกสินค้า

ฉะนั้น นอกจากจะขายของเก่งแล้ว อย่าลืมทำรายงานคุมสต๊อกสินค้าอย่างสม่ำเสมอ จะได้วางแผนสั่งซื้อแบบไม่ขาดมือ หรือตัดสินใจเคลียร์สินค้าที่ล้นมือได้ง่ายขึ้น

6.เข้าใจค่าใช้จ่ายในการขาย

ไม่มีใครเข้าใจค่าใช้จ่ายของเราเท่ากับตัวเราเอง บางทีแม่ค้าออนไลน์สนใจแค่ต้นทุนสินค้า แต่ลืมไปว่าการขายของได้แต่ละชิ้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขายเกิดขึ้นเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายในการขาย คือ ค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปให้สินค้าขายได้ ขายเร็ว และขายดี หรือบางทีอาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้สินค้าถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย

ค่าใช้จ่ายในการขาย
ค่าใช้จ่ายในการขาย

ยกตัวอย่างเช่น

  • ค่าคอมมิชชั่น หรือ GP ที่จ่ายให้เจ้าของ platform ขายของออนไลน์ต่างๆ
  • ค่าถ่ายรูปโปรโมทสินค้า
  • ค่าขนส่งสินค้า
  • ค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิต หรือให้ลูกค้าผ่อนบัตรเครดิต

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถ้าสังเกตดีๆ มันจะผันแปรไปพร้อมๆ กับยอดขาย นั่นหมายความว่า สินค้าราคา 100 บาท นอกจากต้องหักต้นทุนขายสินค้าและยังมีค่าใช้จ่ายในการขายเหล่านี้เพิ่มเติมมาอีกด้วย

7.เข้าใจเอกสารทั้งหมด

ถ้าไม่อยากปวดหัวภายหลัง การเข้าใจวงจรเอกสารเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทั้งเอกสารการรับเงิน และเอกสารการจ่ายเงิน เพราะเอกสารเหล่านี้เป็นตัวช่วยยืนยันรายการค้ากับบุคคลภายนอก

เอกสารธุรกิจ
เอกสารธุรกิจ

เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเอกสารการขาย

แล้วต่อด้วยเอกสารค่าซื้อและค่าใช้จ่าย

ถ้าเข้าใจครบทั้ง 2 กระบวนการนี้ รับรองว่าแม่ค้าออนไลน์จะจัดการงานหลังบ้านได้ดีขึ้นอีกหลายเท่าเลยแหละ

อ่านงบการเงิน
อ่านงบการเงิน

8.อ่านงบการเงินให้เป็น

เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากไว้สำหรับแม่ค้าออนไลน์ก็คือ เรื่องของการอ่านงบการเงิน

เพราะเราไม่มีวันรู้ผลประกอบการและสถานะของธุรกิจเลยถ้าอ่านงบการเงินไม่เป็น งบขั้นต่ำที่แม่ค้าออนไลน์ต้องอ่านได้ มี 2 งบคือ

  • งบกำไรขาดทุน ที่บอกว่าธุรกิจมีผลประกอบการอย่างไร มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายและได้กำไรไหม
  • งบแสดงฐานะการเงิน ที่บอกว่าเปิดร้านขายของออนไลน์แล้วสุดท้าย เราในฐานะเจ้าของรวยขึ้นหรือไม่

จบไปแล้วกับ 8 Step เรื่องบัญชีที่แม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายต้องรู้ นอกจากจะพรีเซนต์ปัง ขายของเก่ง สิ่งที่ขายไม่ได้คือ การวางระบบหลังบ้านอย่างงานบัญชีไว้ตั้งแต่เริ่ม

ถ้ารากฐานงานหลังบ้านเราแข็งแรง ถึงแม้ฝนจะตกหนักเท่าไร ฟ้าจะร้องแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรทำให้บ้านเราพังไปต่อหน้าต่อตาอย่างแน่นอน

เพิ่งเปิดร้านใหม่ อยากเข้าใจบัญชีให้มากขึ้น ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ