ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อแฟรนไชส์ เป็น “ทางลัด” ในการเริ่มธุรกิจ
เจ้าของธุรกิจมือใหม่จึงนิยมซื้อแฟรนไชส์ เพราะช่วยให้เริ่มธุรกิจไว มีคนรู้จักเยอะ และไม่ต้องเสียเวลาในการวางระบบบริหารจัดการ
แต่ว่าการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีอีกหลายสิ่งที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่ต้องเช็คก่อนตัดสินใจ
วันนี้ Zero to Profit จะพาทุกคนไปลองเช็ค 5 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนจะซื้อแฟรนไชส์กัน
1.เงินลงทุนเริ่มแรก
เรื่องแรกที่ต้องรู้ก่อนซื้แฟรนไชส์ คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินลงทุนเริ่มแรก เป็นเงินก้อนโตที่เราต้องควักกระเป๋าออกไปสำหรับการเริ่มธุรกิจ เราแบ่งเงินลงทุนก้อนแรกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า = เป็นค่าธรรมเนียมที่จ่ายครั้งแรกเพื่อซื้อสิทธิ์ในการใช้แบรนด์และขายสินค้าภายใต้แบรนด์แฟรนไซส์นั้น รวมไปถึงค่าระบบและ Know-how ต่างๆ ที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องสนับสนุนค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือ Franchise fee จะมีจำนวนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านแล้วแต่ว่าเราจะลงทุนในแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากน้อยขนาดไหน
- ต้นทุนตกแต่งร้าน = เป็นค่าใช้จ่ายอีกก้อนที่ต้องสำรองเงินไว้ เพราะว่าการเปิดร้านแฟรนไชส์ก็ต้องมีการตกแต่งร้านให้เป็นมาตรฐานตามที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนด ซึ่งในบางครั้งก็มาพร้อมกับภาระต้นทุนการตกแต่งร้านราคาสูงเช่นกัน
ข้อสังเกตุสำหรับเงินลงทุนเริ่มแรก แม้ว่าจะเป็นเงินก้อนโตที่ต้องเสียไป แต่ว่าสิ่งที่เราได้มาเช่น สิทธิ์ในแฟรนไชส์ และร้านที่ตกแต่งแล้วจะสามารถใช้งานได้ในระยะยาวตามกำหนดในสัญญา จึงคิดเป็นค่าใช้จ่ายตามอายุสัญญาเช่น สัญญา 5 ปี เงินลงทุนเริ่มแรก 5 ล้าน คิดเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 1 ล้านบาท เป็นต้น
2.ค่าธรรมเนียมรายเดือน
ค่าธรรมเนียมรายเดือน รู้จักในนาม Royalty fee ซึ่งส่วนมากแล้วเมื่อเราเซนต์สัญญาซื้อแฟรนไชส์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ทุกเดือน ตามอัตรา % ที่ตกลงกันไว้ เพื่อเป็นค่าการตลาด บริหารจัดการ และตรวจสอบมาตรฐาน
เช่น Royalty fee 7% ของยอดขายทั้งหมด ถ้าสมมติขายได้ 10000 บาทต่อเดือน เราต้องจ่ายให้เจ้าของแฟรนไชส์ 10000*7% = 700 บาท ทุกๆ เดือน
นั่นหมายความว่า ถ้าอัตราค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty fee) ยิ่งสูงมากเท่าไร เงินที่ได้จากการขายก็จะถูกแบ่งไปให้เจ้าของแฟรนไชส์มากเท่านั้น
3.ค่าใช้จ่ายประจำ
เข้าใจเงินลงทุนเริ่มแรก และค่าธรรมเนียมรายเดือนไปแล้ว นอกจากนี้การที่เราจะเปิดร้านได้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายประจำเกิดขึ้นสำหรับการขายสินค้าและรันร้านในทุกๆ วัน
เราแบ่งค่าใช้จ่ายประจำนี้ออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ
- ต้นทุนสินค้า = ต้นทุนที่ทำให้สินค้าเป็นรูปเป็นร่างพร้อมส่งมอบให้ลูกค้า เช่น ถ้าเราเปิดร้านกาแฟ ต้นทุนกาแฟ 1 แก้ว ประกอบด้วย ผงกาแฟ น้ำตาล นม ครีมเทียม และแก้วกาแฟ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วต้นทุนสินค้าพวกนี้มักจะถูกบังคับให้ซื้อจากเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้น เพื่อรักษามาตรฐานสินค้า จึงต้องทำใจแต่เนิ่นๆ ว่าราคาอาจแพงกว่าที่เราหาได้ในท้องตลาด
- ค่าใช้จ่ายอื่น = นอกจากต้นทุนสินค้าที่พูดไป เรายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายพนักงานในร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ในร้าน หรือค่าวัสดุสิ้นเปลือง รวมไปถึงเครื่องเขียน กระดาษ มากมายสารพัด ถ้าเรายังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีอะไรบ้าง ควรจะเริ่มต้นเช็คสิ่งนี้ก่อนเป็นอันดับต้นๆ
4.กำไรที่เหลือ
พอจะทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคร่าวๆ กันแล้ว ทีนี้ลองมาคำนวณกำไรที่เหลือจากธุรกิจกันบ้างว่าสุดท้ายแล้วเราจะเหลือกำไรเท่าไร โดยกำไรที่เหลือ คำนวณได้จากสูตรนี้
รายได้ – เงินลงทุนเริ่มแรก (คิดตามสัดส่วนเวลา) – ค่าธรรมเนียมรายเดือน – ต้นทุนสินค้า – ค่าใช้จ่ายอื่นๆ = กำไรที่เหลือ
จากภาพจะเห็นได้ว่าถ้าลองกำหนดให้รายได้แต่ละเดือนเราเป็น 100%
ถ้าเราสามารถคำนวณตัวเลขคร่าวๆ ของ % ค่าใช้จ่ายแต่ละตัวได้ ก็น่าจะรู้ % สุดท้ายของกำไรต่อเดือนได้แล้ว
ความยากของสูตรนี้จะอยู่ตรงที่
“เราไม่รู้ว่าจะมีรายได้เท่าไรและค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีอะไรบ้าง”
วิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ การศึกษาข้อมูลและตลาดเพื่อหารายได้ที่ควรจะเป็นและค่าใช้จ่ายที่น่าเกิดขึ้น
5.โอกาสและการสนับสนุน
ข้อนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลขนัก แต่ถ้าอยากมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ยั่งยืน อย่าลืมเช็คสองเรื่องนี้
- โอกาสเติบโตในธุรกิจ ถ้าธุรกิจที่เรากำลังจะลงทุนมีความต้องการในตลาด ลูกค้ารู้จัก และมีชื่อเสียงดี แนวโน้มย่อมมีการเติบโต นอกจากนี้อย่าลืมเช็คงบการเงินของแบรนด์แฟรนไชส์ด้วยว่ามีความน่าเชื่อถือไหม ส่งงบตรงเวลาไหม และผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่าอย่างไร เพราะบางครั้งสิ่งที่โฆษณาอาจจะสวนทางกับตัวเลขในงบการเงิน
วิธีง่ายๆ ในการเช็คงบการเงินเจ้าของแฟรนไชส์ ให้ไปที่นี่เลย
https://datawarehouse.dbd.go.th/
- การสนับสนุน สิ่งที่ทำให้แฟรนไชส์อยู่รอดคือ การมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน อย่าลืมเช็คดีๆ ว่าเมื่อเราซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว เจ้าของแบรนด์เค้าจะสนับสนุนเราอย่างไร และความถี่แค่ไหนบ้าง เพราะถ้าซื้อแล้วหาย ติดต่อไม่ได้เลย แบบนี้เท่ากับว่าปล่อยเราไว้กลางทาง โอกาสที่จะเจ๊งนั้นมีสูงมาก
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องเช็คก่อนที่จะซื้อแฟรนไชส์ นอกเสียจากการไปสำรวจทำเล หรือความต้องการของลูกค้าแล้ว อย่าลืมย้อนกลับมามองต้นทุนที่ต้องเสียไปในการทำธุรกิจว่า สิ่งที่ได้มันคุ้มค่ากับต้นทุนทั้งหมดจริงๆ หรือไม่
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit