4 ข้อคิด ก่อนเริ่มจดทะเบียนบริษัท

การมีบริษัทเป็นของตัวเองถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวของชีวิต แต่ช้าก่อน ถ้าเริ่มจดทะเบียนบริษัท แล้วไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี อาจมีโทษมากกว่าประโยชน์ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาระเรื่องบัญชีการเงิน การแบ่งค่าตอบแทน หรือการดูแลให้บริษัทมีกำไรไปตลอดรอดฝั่ง

เล่ามาถึงตรงนี้ทุกคนน่าจะเริ่มเครียดกันแล้วใช่ไหมว่า แล้วเราควรจะเริ่มจดทะเบียนบริษัทแล้วมั้ยนะ ในวันนี้ Zero to Profit เลยอยากจะชวนทุกคนมาลองทบทวน ตอบคำถามตัวเองกันสักนิดว่าก่อนเปิดบริษัทเราต้องเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อมๆกันค่ะ

1. จดเริ่มง่าย แต่เลิกยาก

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท วุ่นวายแค่ตอนจัดเตรียมเอกสาร หาผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน ตาม พ.ร.บ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 6 กับเตรียมตังค์ไปจ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ภายในวันเดียวเราก็ตั้งบริษัทได้แล้ว

แต่ถ้าเกิดธุรกิจไปได้ไม่ดี ขาดทุน บริษัทไปต่อไม่ได้ ทำให้ตัดสินใจจะเลิกบริษัทขึ้นมา การเลิกบริษัทมีความยากกว่าตอนจดบริษัทหลายเท่า ไหนเราจะต้องเคลียร์บัญชี ภาษีต่างๆ ใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นปีก็ว่าได้ค่ะ ทางที่ดีมาดู Checklist ที่ต้องตอบให้ได้ก่อนจดทะเบียนบริษัท มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

ค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อจดทะเบียนบริษัท

เมื่อจดทะเบียนบริษัทแล้ว สิ่งที่บริษัทเลี่ยงไม่ได้ คือ การทำบัญชี เพราะ พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 8  กำหนดให้บริษัทเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และยื่นงบการเงิน โดยงบการเงินนี้ก็ต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตด้วย ทำให้บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างค่าจ้างทำบัญชี ค่าจ้างปิดงบ และค่าจ้างสอบบัญชี  ถ้าหากธุรกิจของเรายังไม่ใหญ่มาก หรือ ยังไม่พร้อมมีค่าใช้จ่ายพวกนี้เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่คุ้มที่จะจดทะเบียนบริษัท 

วางแผนจดบริษัท
วางแผนจดบริษัท

วางแผนธุรกิจให้ดี

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การวางแผนธุรกิจ ที่มีความเป็นไปได้ แผนที่เราวางไว้จะนำเราไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ลองวางแผนกันดีๆนะคะ เพราะเปิดบริษัทค่าใช้จ่ายเกิดชัวร์ๆ เลย แล้วถ้าดันไม่มีรายได้เข้ามาเลย หรือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ไปต่อไม่ไหว จดทะเบียนบริษัทไปก็ไม่คุ้ม

วางโครงสร้างบริษัทและระบบงานภายในบริษัท

เดิมทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ไม่ต้องมีระบบที่ชัดเจนมาก แต่จดทะเบียนบริษัทแล้ว ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย อย่างเช่น มุมของบัญชีและภาษี ลองถามตัวเองกันก่อนค่ะ เราพร้อมไหม? ถ้าทำบัญชีและภาษีของบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเดิมเราอาจทำบัญชีแบบเอกสารไม่ครบบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง แต่ถ้าจดทะเบียนบริษัทแล้ว จะทำแบบเดิมไม่ได้นะคะ เพราะเอกสารนี่แหละค่ะเป็นตัวสำคัญมากๆ ที่ต้องทำให้ถูกต้องและครบถ้วน

2. แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นให้ชัดเจน

เรื่อง “ผู้ถือหุ้น” ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคุยให้ชัดเจนก่อนเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท ใครจะลงทุนกันเท่าไหร่

ตามกฎหมายแล้ว เรื่องสัดส่วนเงินลงทุนในหุ้น เกี่ยวข้องกับ เงินปันผลที่ได้รับ เพราะ เงินลงทุนถือเป็นสัดส่วนที่จะมาคำนวณเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับกัน และใครมีสัดส่วนเงินลงทุนมาก ก็ถือว่ามีอำนาจในการตัดสินใจในบริษัทมากเช่นกัน

ลองมาดูตัวอย่างที่ว่า เงินลงทุนเกี่ยวข้องกับเงินปันผลยังไง ?

บริษัท Zero to Profit มีผู้ถือหุ้นที่นำเงินมาลงทุน ดังนี้

สมมติบริษัทมีกำไรสะสม แล้วประกาศจ่ายปันผล จำนวนเงิน 100,000 บาท เราลองมาดูว่าแต่ละคนจะได้เงินปันผลเท่าไหร่กัน

เริ่มจดทะเบียนบริษัท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นยังไง
เริ่มจดทะเบียนบริษัท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นยังไง

ดังนั้น นาย A ได้เงินปันผลเยอะ เพราะ ถือเงินมาลงทุนในบริษัทมากกว่า นาย B

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าเงินลงทุนเกี่ยวข้องกับยังไงแล้วใช่ไหมล่ะคะ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เรื่องเงินลงทุนอย่างเดียว อาจจะมีเรื่องผลตอบแทนอื่น เช่น เงินเดือน ค่าจ้างเป็นจ๊อบๆ ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับการแบ่งผลตอบแทนเพิ่มเติม ตามไปอ่านได้ที่ เปิดบริษัท แบ่งเงินกันอย่างไร แต่อย่าลืมว่าต้องคุยเรื่องการถือหุ้นหรือผลตอบแทนอื่นๆกันให้เคลียร์นะคะ ไม่งั้นระวังจะมีปัญหากันภายหลัง

3. จดบริษัทเพื่อประหยัดภาษี ไม่ใช่ความจริงเสมอไป

หลายคนชอบเข้าใจผิดเรื่องจดทะเบียนบริษัทจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เสมอไป ถ้าเราเข้าใจผิดๆ ทำไม่ถูกต้อง ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้ประหยัดภาษี

จดบริษัทเพื่อประหยัดภาษีอาจไม่จริง
จดบริษัทเพื่อประหยัดภาษีอาจไม่จริง

ก่อนจะใช้ประโยชน์จดทะเบียนบริษัท เพื่อประหยัดภาษีตรงนี้ อยากให้เข้าใจก่อน บริษัทต้องจัดทำบัญชีและเอกสารภาษีให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกจะมีค่าปรับภาษีเกิดขึ้นอีกด้วย ลองมาดูเอกสารที่บริษัทต้องจัดทำ มีอะไรบ้าง

ตามคู่มือของสรรพากร เอกสารที่สามารถเป็นรายจ่ายได้ในทางภาษีอากร ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน /ใบกำกับภาษี (กรณีจด VAT)

แต่ถ้าบางกรณีค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายจริง แต่ผู้รับเงินไม่มีหลักฐานการรับเงินที่เพียงพอต่อการทำบัญชี สรรพากรกำหนดให้บริษัททำเอกสารประกอบการทำบัญชีได้

Zero to Profit เลยนำตัวอย่างหลักฐานตามสรรพากรกำหนดเรียกว่า “ใบรับเงิน” มาให้ดูค่ะ

ใบรับเงิน
ใบรับเงิน

เอกสารใบรับเงิน ต้องมีข้อมูล ดังนี้

  1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
  2. ชื่อของผู้ออกใบรับ
  3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
  4. วันเดือนปีที่ออกใบรับ
  5. จำนวนเงินที่รับ
  6. ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้า ในกรณีที่ขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า ที่มีราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป

ดังนั้น ถ้าเราจ่ายเงินแล้วไม่ได้รับใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี อย่างน้อยต้องให้ผู้รับเงินจัดทำเอกสารตามนี้ให้เราด้วยค่ะ และสำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำบทความนี้เลย : สรุปครบ ซื้อของไม่มีใบเสร็จ ใช้เอกสารอะไรแทนได้บ้าง

4. ความรับผิดอาจไม่จำกัด ถ้าเป็นกรรมการ

ก่อนเริ่มจดทะเบียนบริษัท เรื่องสุดท้ายที่อยากให้ลองทบทวนกัน เรื่อง ความรับผิดไม่จำกัด ถ้าเป็นกรรมการบริษัท

กรณีที่จดทะเบียนบริษัทจำกัด กำหนดให้ต้องมีกรรมการ 1 คนขึ้นไป ถ้าเราที่เป็นผู้ถือหุ้น ดันได้รับเลือกเป็นกรรมการอีก ความรับผิดชอบจะไม่ใช่แค่เงินลงทุนที่ลงไป เพราะ ความรับผิดชอบของกรรมการค่อนข้างกว้างกว่าผู้ถือหุ้น

“กรรมการ” ถือเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ ในการดูแลและบริหารบริษัท ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหุ้น

เมื่อเป็นกรรมการบริษัท แล้วเกิดบริหารผิดพลาดจนทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิฟ้องให้กรรมการเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ กับสถาบันการเงิน มักให้กรรมการจะเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งแปลว่า หนี้สินของบริษัทที่สุดท้ายแล้ว กรรมการเป็นผู้ใช้หนี้สินทั้งหมด

กรรมการ ความรับผิดชอบสูง
กรรมการ ความรับผิดชอบสูง

สรุป ข้อคิดก่อนเริ่มจดทะเบียนบริษัท

เรื่องยากไม่ใช่จดทะเบียนบริษัท แต่เป็นเรื่องหลังจากจดทะเบียนบริษัทไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องระบบหลังบ้าน การจัดการเอกสารบัญชีและภาษี เป็นไปตามที่ตามกฎหมายกำหนด พร้อมกับต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างค่าทำบัญชี ค่าปิดงบ และค่าจ้างผู้สอบบัญชี รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องจดทะเบียนบริษัทเพื่อประหยัดภาษีให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิดการจดทะเบียนบริษัทก็ไม่ช่วยให้เราประหยัดภาษีได้ และสุดท้ายต้องคุยเรื่องเงินลงทุนและแบ่งสัดส่วนผู้ถือหุ้นกันให้เคลียร์ก่อนจดทะเบียนบริษัท จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลังค่ะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง