เงินปันผล คืออะไร? รู้ 3 เรื่องนี้ จ่ายเงินปันผล ง่ายนิดเดียว

เงินปันผล คืออะไร ต้องจ่ายหรือไม่ ก่อนจ่ายต้องรู้อะไรบ้าง

ทำธุรกิจมาแล้วหลายปี ผลประกอบการก็เหมือนจะดี แต่ทำไมไม่เคยได้เงินตอบแทนเลย เหตุผลที่เจ้าของธุรกิจไม่เคยได้เงินตอบแทน ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะ เราไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้ตัวเองเลยน่ะสิ

เอ.. แล้วเงินปันผล คืออะไร บริษัทจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ และก่อนจ่ายเราต้องรู้อะไรบ้าง วันนี้ Zero to Profit จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

เงินปันผล คืออะไร?

เงินปันผล คือ การปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ตอนเปิดบริษัท เราและเพื่อนที่เป็นได้เอาเงินส่วนตัวไปลงทุนในหุ้นของบริษัทเพื่อเป็นเงินตั้งต้นไว้  

พอเวลาผ่านไปพอธุรกิจมีกำไร ธุรกิจก็ปันผลกำไรให้เราเป็นเงินตอบแทนในรูปแบบที่เรียกว่า เงินปันผลตามสัดส่วนที่เราและเพื่อนๆ ลงทุนไว้ในบริษัทไงล่ะ

บริษัทจำเป็นต้องจ่ายเงินปันผลหรือไม่?

ไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าบริษัทจะต้องจ่ายเงินปันผลออกไปให้ผู้ถือหุ้น แต่ตัวผู้ถือหุ้นเอง ในฐานะนักลงทุน ก็น่าจะอยากได้ผลตอบแทนจากธุรกิจแน่นอนค่ะ

ดังนั้น บางบริษัทจึงตั้งนโยบายว่า จะจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า x บาท/หุ้น หรือ ไม่ต่ำกว่ากี่เปอร์เซนต์จากกำไรสะสมที่หามาได้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสบายใจว่าเงินที่ลงทุนไป อย่างน้อยในแต่ละปีก็น่าจะมีปันผลกลับมาค่ะ

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นบริษัทเจ้าของคนเดียว ก็อาจจะไม่ซีเรียสว่าต้องจ่ายเงินปันผลเท่านั้นเท่านั้น หรือบ่อยขนาดไหน แต่อยากจะชวนเพื่อนๆ คิดในมุมการเงินส่วนบุคคลค่ะ ถ้าเราทำธุรกิจแล้วไม่ได้เงินตอบแทนเลย ก็น่าจะลำบากเหมือนกันนะ ดังนั้น การจ่ายเงินปันผลก็ควรจะมีเพื่อเป็นการ “นำเงินออก” จากบริษัทมาให้ “บุคคล” ใช้บ้างไงล่ะ

ก่อนจ่ายปันผลต้องรู้อะไรบ้าง?

ก่อนจะจ่ายเงินปันผลเจ้าของธุรกิจจะต้องเช็คข้อมูลอะไรบ้าง เราขอสรุปมาให้ 3 ข้อ ตามนี้

1.ต้องมีกำไรสะสม

ข้อแรก ถ้าอยากจ่ายเงินปันผล จะต้องมี “กำไรสะสม” เป็นตัวตั้งต้นเสียก่อน

คำว่ากำไรสะสมในที่นี้ หมายถึง กำไรที่สะสมมาตั้งแต่เปิดกิจการ ว่าทำธุรกิจมาแล้วมีส่วนที่เกินจากทุนมามากน้อยขนาดไหน

เงินปันผลคืออะไร จ่ายปันผลได้เท่ามีกำไรสะสมเท่านั้น
เงินปันผลคืออะไร จ่ายปันผลได้เท่ามีกำไรสะสมเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น

ปีที่ 1 ขาดทุน 2 ล้าน

ปีที่ 2 กำไร 1 ล้าน

กำไรสะสม ณ ปลายปีที่ 2 จะเท่ากับ = -2 ล้าน + 1 ล้าน = -1 ล้าน (ขาดทุนสะสม)

ถ้าติดลบแบบนี้เราจะเรียกว่า ขาดทุนสะสม และแม้ว่าปีที่ 2 จะมีกำไร 1 ล้านบาทก็ตาม ธุรกิจก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลออกไปได้จนกว่า จะเคลียร์รายการขาดทุนสะสมให้หมดก่อน

ปีที่ 3 มีกำไรเพิ่มมา 2 ล้าน

กำไรสะสม ณ ปลายปีที่ 3 จะเท่ากับ = -2 ล้าน + 1 ล้าน + 2 ล้าน = 1 ล้านบาท

ปลายปีที่ 3 ธุรกิจจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สบายๆ เพราะมียอดกำไรสะสมเกิดขึ้นแล้ว

ถ้าเป็นลักษณะนี้จะเรียกว่าเราเข้าเกณฑ์ข้อแรกเรียบร้อยแล้วนะคะ

2.มีเงินสำรอง

แม้จะมีกำไรสะสมมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าจะจ่ายเงินปันผลออกจากกำไรสะสมได้ทั้งหมด 100% นะ เพราะว่ากิจการต้องกันเงินสำรองส่วนนี้เอาไว้ด้วยตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า…

“ทุกคราวที่บริษัทแจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วน (5%) ของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบ (10%) ของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท”

เงินสำรองตามกฎหมาย
เงินสำรองตามกฎหมาย

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

กำไรที่จะจ่ายเงินปันผล 1 ล้านบาท

ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท

ปีนี้ถ้าจ่ายเงินปันผลจะต้องจัดสรรเป็นเงินสำรอง = 5%x1 ล้าน = 50,000 บาท และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆทุกปีจนกว่ายอดเงินสำรองตามกฎหมายจะถึง 10% ของทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท = 200,000 บาท

หลายคนเข้าใจผิดว่าเงินสำรองนี้ จะเป็นเงินส่วนที่เสียไปโดยไม่ใช่ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเงินของธุรกิจไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่สำรองไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้นเอง

3.เช็กเงินสด

ข้อนี้สำคัญมากเลยก่อนจะจ่ายเงินปันผล เพราะแม้ว่าเราจะมียอดกำไรสะสมเยอะ จ่ายเงินปันผลได้เยอะก็จริง แต่ในธุรกิจเองแล้วก็ยังต้องมีเงินสดให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายด้วยเช่นกัน

เช็กเงินสดก่อนจ่ายปันผล
เช็กเงินสดก่อนจ่ายปันผล

ตัวอย่างเงินสดที่ต้องกันไว้ในธุรกิจอย่างเพียงพอ เช่น

  • จ่ายหนี้ในอนาคต
  • จ่ายค่าใช้จ่ายประจำเดือน
  • จ่ายค่าเพื่อลงทุนในโรงงาน

รายจ่ายทั้งหมดนี้ควรต้องหักออกจากยอดเงินสดคงเหลือทั้งหมดก่อนที่เราจะเริ่มต้นจ่ายเงินปันผล

เพราะบางครั้งธุรกิจเราอาจไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเพียงพอ เพื่อคืนกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้มากมาย

ถ้ายังอยู่ในช่วงตั้งตัว เริ่มต้นธุรกิจ การคิดให้รอบก่อนจ่ายปันผลก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ

สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจว่าปีนี้จะจ่ายเงินปันผลเท่าไร คงไม่ใช่เพียงแค่การดูกำไรประจำปีเท่านั้น เพราะยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องสนใจ และใส่ใจไม่แพ้กันก่อนจ่ายเงินปันผลออกไปค่ะ

และสำหรับใครที่อยากจ่ายเงินปันผลเต็มแก่แล้ว ลองศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการจ่ายเงินปันผลได้ที่นี่: รู้จักขั้นตอนการจ่ายเงินปันผล ทำเองได้ Step-by-Step แถมด้วยภาษีที่ควรรู้เกี่ยวกับเงินปันผลที่นี่เลย: จ่ายปันผล ภาษีเสียเท่าไร: เรื่องต้องรู้ของบริษัทกำไรสะสมเยอะ

มีกำไรสะสมเยอะ อยากจ่ายปันผลแต่ไม่รู้เริ่มต้นอย่างไร ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ